เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. รฟม.จะเริ่มทดสอบเดินรถเสมือนจริงในวันที่ 21 พ.ย.66 โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ประธาน จากนั้นเปิดให้ประชาชนทดลองนั่งฟรีตลอดสาย 30 สถานี เป็นระยะเวลา 1 เดือน ก่อนจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แบบเก็บค่าโดยสาร อัตรา 15-45 บาท วันที่ 18 ธ.ค.66 เป็นต้นไปนั้น

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า บริเวณจุดเชื่อมต่อสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู กับสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ไม่มีประตูกั้นเพื่อแตะบัตรเข้าออกระบบ ทำให้ผู้โดยสารจากสายสีชมพูสามารถเดินผ่านสกายวอล์กเข้าสู่ระบบสายสีเขียวขึ้นรถไฟฟ้าได้ทันที ขณะที่สถานีสำโรง (YL23) ของรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เชื่อมต่อกับสถานีสำโรง (E15) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มีการติดตั้งประตูกั้นสำหรับแตะบัตรเข้าออกระบบ เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะมีเพียงจุดเดียวที่ไม่มีประตูกั้นจุดเชื่อมต่อข้ามระบบ แบบนี้จะคิดค่าโดยสารอย่างไร เพราะเป็นการนั่งข้ามระบบ ประกอบกับหน่วยงานที่กำกับดูแลคนละหน่วยกัน

โดยสายสีชมพูและสายสีเหลืองของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย กทม.ดูแล แม้ว่าบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือบีทีเอสซี ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานสายสีชมพูและสายสีเหลืองและผู้รับจ้างเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยายก็ตาม เตรียมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอข้อมูลแผนการเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้า รวมถึงจะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงจุดเชื่อมต่อดังกล่าว เรื่องนี้ต้องมีความชัดเจนก่อนที่สายสีชมพูจะเปิดให้บริการ ในส่วนของสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ผู้บริหาร กทม.มีนโยบายที่จะเริ่มเก็บค่าโดยสารแล้วเช่นกัน คาดไม่เกินต้นเดือน ม.ค.67

...

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กก.ผจก.ใหญ่ บมจ.บีทีเอสซี ชี้แจงว่า กรณีที่จุดเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) กับสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ไม่มีประตูกั้นนั้น เป็นการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารที่จะเปลี่ยนระบบได้อย่างรวดเร็ว ส่วนการคิดค่าโดยสารนั้น รถไฟฟ้าสายสีเขียวและรถไฟฟ้าสายสีชมพูสามารถใช้บัตรโดยสารใบเดียวกันได้ ทำให้ไม่มีปัญหาในการคิดค่าโดยสาร ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวบริษัทเคยทำเรื่องแจ้งให้ กทม.ซึ่งรับผิดชอบรถไฟฟ้าสายสีเขียวทราบแล้วก่อนหน้านี้.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่