เมื่อวันที่ 30 ต.ค.66 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดง นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภา กทม. เป็นประธานการประชุมสภา กทม.สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 5) ประจำปี พ.ศ.66 โดยมีสมาชิก สภา กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คณะผู้บริหาร กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม โดยในที่ประชุมนายชัชชาติได้ส่งคืนร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องรถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. ... หลังจากหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้คำวินิจฉัยว่า กทม.ไม่มีอำนาจในการออกข้อบัญญัติดังกล่าว และให้ กทม.หารือกรมการขนส่งทางบกเพื่อออกข้อบัญญัติ ซึ่งในภาพรวมทุกฝ่ายอยากเห็นสภาพอากาศที่ดีขึ้น จึงต้องขอส่งข้อบัญญัติฉบับนี้คืนกับสภา กทม.

นายชัชชาติกล่าวว่า การดำเนินการของ กทม.ในขั้นตอนต่อไป จะได้นำเรื่องนี้ไปหารือร่วมกับกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม และรัฐบาล เพราะสุดท้ายคือต้องการให้มีรถ EV ให้มากขึ้น เพื่อให้อากาศสะอาดและเป็นไป ตามความต้องการของประชาชนต่อไป

นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สก.เขตยานนาวา กล่าวว่า ในฐานะผู้ที่ยื่นข้อบัญญัตินี้ รู้สึกเสียใจที่ร่างข้อบัญญัติฉบับนี้ไม่ผ่าน ซึ่งเรื่องที่ กทม.จะทำได้อาจต้องส่งจดหมายไปยังกรมการขนส่งทางบกเพื่อขอให้มอบอำนาจให้ กทม.ออกข้อบัญญัตินี้เองได้ หรือประสานกรมการขนส่งทางบกอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่กำหนดให้เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด หากผ่านไปได้จะถือเป็นผลงานที่สำคัญของสภา กทม.และฝ่ายบริหารที่จะผ่านข้อบัญญัติอากาศบริสุทธิ์เพื่อประชาชนทุกคน

นายวิรัตน์กล่าวว่า การที่สภา กทม.เป็นห่วง สุขภาพประชาชนเป็นเรื่องที่ดีและทุกคนเห็นชอบร่วมกัน การส่งคืนเรื่องของผู้ว่าฯ กทม. ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นไปตามที่ข้อกฎหมายรองรับอยู่ โดยคำสั่งของ ครม.ที่ว่าหากมีเรื่องในทางกฎหมายและส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีให้ความเห็น หากกฤษฎีกาให้ความเห็นมาแล้วให้หน่วยงานถือปฏิบัติ ซึ่งในเรื่องข้อบัญญัติ เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. ...นี้ ให้ถือว่าไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากไม่ใช่อำนาจของ กทม.

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่