พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรคให้เกิดกับประชาชนชาวไทย และทรงทราบเกี่ยวกับอุบัติการณ์ในการเกิดภาวะ หัวใจหยุดเต้น (Sudden Cardiac Arrest) ทำให้มีอาการหมดสติอย่างเฉียบพลัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในประชาชนทุกกลุ่มอายุ และถือเป็นภาวะวิกฤติที่จะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่าง ทันท่วงทีด้วยวิธีการที่ถูกต้องจากผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้กับผู้หมดสติรายนั้น ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการสอนและฝึกอบรมการปฏิบัติจนมีความมั่นใจที่จะเข้าไปทำการช่วยเหลือ พร้อมกับการที่จะต้องมีเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED-Automated External Defrillator) มาช่วยทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติอีกครั้งหนึ่ง

พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้มีการจัดหาเครื่อง AED มาติดตั้งในพื้นที่ของวังหลวงทุกเขตพระราชฐาน ให้มีจำนวนที่เพียงพอในสัดส่วนตามมาตรฐานสากล และจะต้องมีการฝึกอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพ Basic Life Support-BLS ให้แก่ข้าราชบริพาร ข้าราชการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างๆดังกล่าว

...

พล.อ.อ.นพ.สุบิน ชิวปรีชา
พล.อ.อ.นพ.สุบิน ชิวปรีชา

นี่คือเหตุผลที่นำมาสู่การฝึกอบรมปฏิบัติการ “การช่วยฟื้นคืนชีพ สำหรับข้าราชบริพารและเจ้าหน้าที่ของพื้นที่เขตวัดพระแก้วในพระบรม มหาราชวัง” โดยมี พล.อ.อ.นพ.สุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์ 904 รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.จอส.) และประธานจิตอาสาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นประธานดำเนินการจัดการฝึกอบรม ร่วมกับจิตอาสา CPR Instructors ทั้งจากภาครัฐและเอกชน

“จากรายงานของสภากาชาด ซึ่งสอบถาม 21 ประเทศในเอเชียว่า ประชาชนในแต่ละประเทศมีความรู้เรื่องการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานหรือไม่ ปรากฏว่ามี 4 ประเทศไม่ได้ตอบ และไทยก็เป็น 1 ในประเทศนั้น เพราะประเทศไทยไม่มีข้อมูลว่าคนไทยมีการรณรงค์เรื่อง CPR มากน้อยเพียงใด โดย CPR หรือ Cardiopulmonary resuscitation หรือการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน คู่กับการใช้เครื่อง AED ผมจึงตั้งเป้าว่าจะให้ความสำคัญกับการแพทย์นอกโรงพยาบาล

จากประสบการณ์เมื่อปี พ.ศ.2551 มีข้าราชบริพารหัวใจหยุดเต้น ผมได้ทำ CPR และนำเครื่อง AED มาช็อต ข้าราชบริพารคนนั้นก็รอดชีวิตจนถึงทุกวันนี้ หรือในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จิตอาสาด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีการจัดตั้งเต็นท์พระราชทานด้านการแพทย์ ดูแลประชาชนที่มาร่วมในพระราชพิธี ก็ได้ช่วยเหลือข้าราชบริพาร และประชาชนที่เกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ปลอดภัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าพระทัยเรื่องความสำคัญของเครื่อง AED ทรงรับสั่งให้จัดซื้อเครื่อง AED ไว้ตามเขตพระราชฐานต่างๆ เบื้องต้นคือให้การดูแลข้าราชบริพาร” พล.อ.อ.นพ.สุบิน เล่าถึงประสบการณ์ในการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพและจุดเริ่มต้นของแนวคิดการจัดอบรม

...

พล.อ.อ.นพ.สุบิน กล่าวด้วยว่า สำหรับพื้นที่เขตพระราชฐานที่เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชม ได้แก่ พระบรมมหา ราชวังหรือวังหลวง พระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ จ.เพชรบุรี โดยเฉพาะวัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวังนั้น ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าชมวันละ 30,000 คน และหลังการระบาดใหญ่ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยววันละ 10,000 คน โอกาสที่จะเกิดภาวะวิกฤติทางการแพทย์ เช่น หัวใจหยุดเต้นจากภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันก็จะสูงไปด้วยตามสัดส่วนจำนวนคนที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับเขตพระบรม มหาราชวัง ได้รับพระราชทานเครื่อง AED ติดตั้งโดยรอบ 11 จุด และพระราชทานชุดฝึกการทำ CPR และชุดฝึกเครื่อง AED จำนวน 100 ชุด เพื่อฝึกข้าราชบริพาร ถือว่าหน่วยฝึกอบรมของเรามีอุปกรณ์ฝึกที่สมบูรณ์ที่สุด เบื้องต้นทำการฝึกข้าราชบริพารที่ทำงานใกล้ชิดนักท่องเที่ยว 240 คน ให้รู้จักการทำ CPR และใช้เครื่อง AED โดยมีเป้าหมายว่าทุกคนต้องทำ CPR เป็น และมีประสิทธิภาพ นำเครื่อง AED มาช็อตให้เร็วที่สุด เพราะจากงานวิจัยพบว่า ในสนามฟุตบอล นักฟุตบอลได้รับการ CPR ทันที และใช้เครื่อง AED กระตุกหัวใจภายใน 2 นาที โอกาสรอด 100 เปอร์เซ็นต์, ในลาสเวกัส ผู้ป่วยได้รับการทำ CPR ทันทีและใช้เครื่อง AED ภายใน 3 นาที โอกาสรอด 75% ดังนั้น การเข้าถึงผู้ป่วยและทำ CPR ได้เร็ว นำเครื่อง AED มาถึงที่เกิดเหตุได้เร็ว ถือเป็นปัจจัยของความสำเร็จ โดยอย่างน้อยสมองจะต้องสั่งการให้รีบนำเครื่อง AED มาช่วยผู้ป่วยให้เร็วที่สุด จากนั้นให้โทร.2222 เพื่อประสานนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นเครือข่ายกับพื้นที่พระบรมมหาราชวัง เพราะนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติที่มาเที่ยวพระบรมมหาราชวัง จะต้องได้รับการดูแลอย่างดี เสมือนเป็นแขกคนสำคัญที่เราต้องดูแลเอาใจใส่

...

สำหรับประชาชนทั่วไปควรมีความรู้ด้านการ CPR และการใช้เครื่อง AED อย่างไรนั้น พล.อ.อ.นพ.สุบิน กล่าวว่า ขณะนี้การแพทย์นอกโรงพยาบาลหรือการกู้ชีพนั้น ยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบชัดเจนในการอบรมให้ความรู้ประชาชน ที่ผ่านมาผู้เข้ารับการ อบรมหลักสูตรจิตอาสา 904 จะได้รับการอบรมและฝึก CPR และ AED ด้วย ซึ่งมีผู้ผ่านการอบรมไปแล้ว 7,000 คน จิตอาสาเหล่านี้จะช่วยขยายผลการฝึกอบรมต่อให้กับประชาชนให้มีความรู้เรื่องการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานโดยไม่หวังผลตอบแทน รวมทั้งมัคคุเทศก์ที่นำชมวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง ซึ่งต้องได้รับการอบรมความรู้ด้านประวัติศาสตร์ การสื่อสาร และการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานเช่นกัน ซึ่งเคยอบรมไปแล้ว 700 คน แต่หยุดชะงักไปเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ก็คงต้องรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้ง

ขณะเดียวกันจะหารือกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ถ่ายโอนไปบางส่วน เพื่อวางเป้าหมายร่วมกันในการอบรมให้ความรู้ CPR และ AED ให้กับประชาชน และร่วมกันรณรงค์ให้เรื่องนี้เข้มแข็งขึ้น ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญ ร่วมเป็นจิตอาสาที่จะช่วยกันทำดีด้วยหัวใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินให้มากขึ้นก็จะประสบความสำเร็จได้

...

“ทีมข่าวสาธารณสุข” มองว่า การรวมพลังทุกภาคส่วนมาร่วมกันเป็นจิตอาสา ขยายการฝึกอบรมให้ประชาชนมีความรู้ด้าน CPR และ AED เป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็น เพราะภาวะหัวใจหยุดเต้นซึ่งเป็นภัยเงียบสามารถเกิดขึ้นกับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา

สร้างพลังจิตอาสา ทำดีด้วยหัวใจ สกัดภัยเงียบ ...เพราะเพียงแค่หนึ่งชีวิตที่กู้ให้ฟื้นคืนกลับมาได้นั้นมีค่ามหาศาล ทั้งต่อครอบครัวผู้ป่วยและสังคม อย่างที่ไม่มีสิ่งใดสามารถทดแทนได้.

ทีมข่าวสาธารณสุข

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่