นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ว่า ได้ให้นโยบายสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ว่าที่ผ่านมาต้องแก้ปัญหาเรื่องน้ำกันตลอดเวลาเพราะไม่ได้ทำให้ครบถ้วน เนื่องจากไม่มีการทำเขื่อนต้นน้ำ เช่น ที่ จ.นครสวรรค์ หรือในภาคเหนือที่ จ.แพร่ ก็ไม่มี เพราะเป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และปัญหามักจะมาเกิดตรงกลางน้ำ ปลายน้ำ และ กทม.จึงให้คณะกรรมการไปช่วยกันคิดว่าตั้งแต่ปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย ตอนนี้ปี 2566 ผ่านมา 12 ปีแล้ว ซึ่งถึงรอบที่จะเกิดอุทกภัยใหญ่อีกครั้ง จะเตรียมการว่าหากเกิดขึ้นทางเราจะทำอย่างไร พร้อมกันนี้ได้มอบหมาย สทนช.บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดขับเคลื่อนแผนงาน โครงการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2566-2580) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

นอกจากนี้ ได้พิจารณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้เงื่อนไขของสภาวะเอลนีโญ ซึ่งจะมาถึงในช่วงเดือน พ.ย.2566 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 66/67 และให้ สทนช. เสนอ ครม. ต่อไป รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบต่อแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำเสนอ จำนวน 10 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก และเห็นชอบในหลักการโครงการปรับปรุงคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา จ.สุโขทัย ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (ปี 68-73) เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยในลุ่มน้ำยมช่วง อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง และ อ.เมืองสุโขทัยด้วย.

...