"รมช.คมนาคม" ตั้งคณะทำงานสางปม "แอชตัน อโศก" ตั้ง "รองปลัดกระทรวงคมนาคม" นั่งประธานคณะทำงาน ขีดเส้น 2 สัปดาห์ ก่อนได้ลงมือให้ได้ข้อยุติภายใน 30 วัน เร่งฟื้นความเชื่อมั่นประชาชน-นักลงทุน หวั่นใบอนุญาตภาครัฐ กระทบตลาดทุน
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 66 ที่กระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบการอนุญาตใช้พื้นที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ภายหลังที่ได้รับหนังสือร้องขอความเป็นธรรม และขอแนวทางการให้ความช่วยเหลือจากกลุ่มลูกบ้านที่อาศัยในอาคารชุด "แอชตัน อโศก" เกี่ยวกับความเดือดร้อนในการปฏิบัติงานผิดพลาดของ รฟม. โดยมีองค์ประกอบ 9 คน ได้แก่ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และมีคณะทำงานประกอบด้วย อธิบดีกรมขนส่งทางราง, ผู้ว่าการ รฟม., ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้แทน กทม., ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม, ผู้อำนวยการกองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม, และรองผู้ว่าการ รฟม. โดยมีอำนาจหน้าที่ศึกษาข้อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศและหลักเกณฑ์ต่างๆ พร้อมให้ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ตลอดจนมีอำนาจเชิญบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ เป็นต้น ทั้งนี้มีระยะเวลาในการศึกษาข้อมูล และแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชนภายใน 2 สัปดาห์ และคาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
"เราไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และไม่ได้ดูแค่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสาธารณะอย่างเดียว แต่กระทรวงคมนาคมมีความกังวลว่า เรื่องนี้อาจจะส่งผลกระทบต่ออรรถคดีต่างๆ ของหน่วยงานในกำกับที่จะตาม จึงจะเข้าไปตรวจสอบข้อกฎหมายอื่นๆ ด้วย จึงต้องนำปัญหาและแนวทางที่จะดำเนินการมาหารือกันในคณะทำงานที่ตั้งขึ้น ก่อนนำข้อสรุปที่ได้แจ้งให้ รมช.คมนาคม รับทราบ เพื่อให้ รฟม.ดำเนินการต่อไป จึงขอให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ได้เชื่อมั่นต่อแนวทางของภาครัฐ" นายสรพงศ์ กล่าว
...
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดประชาชนจึงยังไม่ได้รับความเป็นธรรม นายสรพงศ์ กล่าวว่า ตนไม่อาจก้าวล่วงคำพิพากษาของศาลปกครอง แต่ที่ผ่านมามีข้อเท็จจริงว่า ใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่าน แต่เรื่องนี้ถือเป็นกรณีแรกที่เกิดขึ้น จึงจะต้องนำไปสู่การตรวจสอบกรณีอื่นๆ ด้วยว่ามีลักษณะเช่นเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้ ทางกระทรวงไม่ได้เอาปัญหาที่ผ่านมาเป็นตัวตั้ง แต่ได้นำความเดือดร้อนของประชาชนมาคิดว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสูงสุด
เมื่อถามว่า หลังจากรับเรื่องร้องเรียนแล้ว พิจารณาว่าแนวทางเบื้องต้นจะมีทางออกอย่างไรได้บ้าง รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เบื้องต้นได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคน ซึ่งก็ได้ให้คำแนะนำข้อกฎหมายต่างๆ ที่สอดคล้องกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ขออนุญาตยังไม่ลงรายละเอียด เพราะต้องศึกษาข้อกฎหมายอื่นๆ ประกอบกัน เช่น รัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า นอกจากการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนแล้ว จะพิจารณาในแง่ของนักลงทุนประกอบด้วยหรือไม่ เพราะเชื่อมโยงกับความน่าเชื่อถือของหน่วยงานรัฐ นายสรพงศ์ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นผลทางอ้อม เพราะขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะตื่นตัวทางเศรษฐกิจ เราต้องสร้างความเชื่อมั่น เพราะไม่อยากให้การอนุมัติใบอนุญาตของหน่วยงานรัฐไปกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน หรือตลาดทุน เราพยายามแก้ไขปัญหาภายใต้กรอบกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดึงความเชื่อมั่นในส่วนนี้กลับมาให้ได้ก่อน อย่างน้อยที่สุดต้องทำให้เห็นว่าภาครัฐไม่ได้นิ่งเฉยต่อความเดือดร้อนของประชาชน แต่ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่จะดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน