สทนช. ระดมภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ร่วมเสวนา "ผ่าทางรอดประเทศไทย จับมือฝ่าวิกฤติภัยเอลนีโญ" ชูแผนระยะสั้น-ยาว รับมือภัยแล้ง จับมือหน่วยงานภาคีทำ MOU อนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ และการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินแบบบูรณาการ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พร้อมรณรงค์ประหยัดน้ำ
ผ่านการประกวดสื่อสร้างสรรค์


เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ สทนช.เตรียมจัดกิจกรรมใหญ่เกี่ยวกับการบูรณาการสื่อสารแผนบริหารทรัพยากรน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์เอลนีโญ โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่



1.การเสวนา หัวข้อ "ผ่าทางรอดประเทศไทย จับมือฝ่าวิกฤติภัย "เอลนีโญ" ถือเป็นไฮไลต์ของงานที่ไม่ควรพลาด ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 1.อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา หรือผู้แทน มาบอกเล่าถึงสถานการณ์เอลนีโญในช่วงที่ผ่านมา และการคาดการณ์ในอนาคต รวมถึงแนวโน้มฝนในปีหน้า 2.เลขาธิการ สทนช. ร่วมประเมินสถานการณ์เอลนีโญที่จะเกิดขึ้น พร้อมคาดการณ์ระดับความรุนแรง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งบอกเล่าบทบาทของ สทนช.ที่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วน ในการเตรียมการรองรับสถานการณ์ที่คาดการณ์ไว้ 3.ผู้แทนภาคอุตสาหกรรม มาร่วมแลกเปลี่ยนถึงการเตรียมพร้อมของภาคอุตสาหกรรม และบอกเล่าถึงการเตรียมพร้อมหากเกิดสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในระบบอุตสาหกรรม 4.ผู้แทนภาคเกษตรกรรม ร่วมพูดคุยถึงการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ และการปรับตัวทางอาชีพของเกษตรกรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ 5.ผู้แทนสื่อมวลชน บอกเล่าถึงการมีส่วนร่วมในการรับมือกับสถานการณ์ พร้อมแนะนำแนวทางจัดการกับข่าวลวง (fake news) และการสร้างสถานการณ์ในสื่อสังคมออนไลน์

...

2.การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU หัวข้อ "การอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินแบบบูรณาการ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี" ระหว่าง สทนช. กับ กรมพัฒนาที่ดิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรธรณี และกรมทรัพยากรน้ำ โดยการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการข้อมูลทางวิชาการ เทคโนโลยี นวัตกรรม เครื่องจักร เครื่องมือ รวมถึงบุคลากรแต่ละหน่วยงาน เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศ รวมทั้งขับเคลื่อนแผนบูรณการเชิงพื้นที่ระดับลุ่มน้ำให้สอดคล้องกับเป้าหมายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี

3.การจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับแผนบูรณาการบริหารทรัพยากรน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์เอลนีโญ โดยมีทั้งนิทรรศการแสดงผลงาน และมาตรการต่างๆ ของ สทนช. ภาคีเครือข่าย รวมทั้งแนวทางการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ MOU "การอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินแบบบูรณาการ"

4.การมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดคลิปสั้น และ TikTok รณรงค์ประหยัดน้ำ เพื่อกระตุ้นให้พี่น้องประชาชนรู้จักใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และตระหนักถึงภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

ทั้งนี้ เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมในช่วงท้ายว่า การรณรงค์ประหยัดน้ำเป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำกันอยู่เสมอ เพราะการประหยัดน้ำไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) หรือสภาวะโลกร้อน ทำให้โอกาสการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญา เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อทั่วโลกและประเทศไทย และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคในอนาคตจึงอาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งจำเป็น และการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนสามารถให้ความร่วมมือได้ โดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน เพื่อให้กลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ สร้างความเปลี่ยนแปลงในการอนุรักษ์ และรักษาทรัพยากรน้ำของประเทศและของโลก ให้มีน้ำสะอาดเหลือใช้อย่างเพียงพอและยั่งยืนต่อไปในอนาคต.

...