กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก “กำลังกระทบต่อบริบทของคนไทยยากที่จะหลีกเลี่ยงพ้นไปได้” ทำให้วิถีแห่งการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ต้องเผชิญกับการแข่งขันสร้างความโดดเด่น ทั้งการศึกษา ประสบการณ์ และทักษะการใช้ชีวิตในปัจจุบัน

ทว่าการดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้ตาม “พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” เปรียบเหมือนเกราะป้องกันทางใจให้กับคนทั่วไป เพราะคำที่พระองค์ท่านสอนคนไทยไว้มีประโยชน์ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกที่สับสนวุ่นวายอยู่ขณะนี้

แล้วไม่นานมานี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกำหนดให้วันที่ 13 ต.ค.ของทุกปี เป็น “วันนวมินทรมหาราช” เพื่อให้วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันแห่งการร่วมรำลึกและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่อาณาประชาราษฎร์ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อความวิวัฒน์พัฒนาชาติบ้านเมืองเป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์ และยังความผาสุกร่มเย็นแก่พสกนิกร พระเกียรติคุณเป็นที่แซ่ซ้องก้องประจักษ์ทั้งปวงชนชาวไทยและนานาประเทศ

...

แม้ว่าการเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ต.ค.2559 จะล่วงเลยมาจนถึง ปัจจุบัน พสกนิกรทุกหมู่เหล่ายังล้วนคำนึงถึงด้วยความสำนึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างไม่รู้ลืมเลือน

การนี้ “ทีมสกู๊ปหน้า 1” มีโอกาสได้ไปนั่งฟังเสวนาหัวข้อ “ก้าวพอดี ก้าวแห่งการเติบโตที่ยั่งยืน” ภายใต้มหกรรมด้านความยั่งยืน หรือ SX2023 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่มีการสะท้อนประสบการณ์ต้นแบบธุรกิจน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้บริหารจัดการธุรกิจ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จมาบอกกล่าวกันในครั้งนี้

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผอ.โครงการพอแล้วดี The Creator บอกว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักสำหรับของ “การรู้จักจุดพอดีในการดำเนินประกอบธุรกิจ” เริ่มจากสำรวจความรู้ ความพร้อมตัวเองให้สามารถ ช่วยตัวเองได้ก่อน เพราะถ้าไม่รู้หรือไม่พร้อมอาจจะกลายเป็นผู้ขออยู่ร่ำไป

ตามหลักโครงการพอแล้วดีนั้นถ้ารู้สึกว่า “พร่องต้องรู้จักเติม” ในการสำรวจตัวเองขาดอะไร และมีความเชี่ยวชาญด้านไหนแล้วพร่องเติมให้พอดี “เมื่อเกินก็ต้องแบ่ง” ด้วยการหันดูคนรอบข้างเรียนรู้ที่จะแบ่งปันให้คนอื่น “เมื่อพอก็ต้องรู้จักหยุด” สิ่งนี้เป็นปรัชญาสามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจเสมือนการค้นหาก้าวที่สมดุลจากตัวเอง

ส่วนการสร้างความยั่งยืน “สำหรับธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง” มีกรอบแนวคิด 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ ห่วงแรก...“รู้จักประมาณตัว” การทำธุรกิจต้องรู้จักวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน เพื่อเลือกตลาดแข่งขันให้มีโอกาสชนะ ห่วงที่สอง...“มีเหตุมีผล” ต้องเข้าใจกลยุทธ์สร้างหนทางเป้าหมาย และแนวทางดำเนินงานอย่างมีเหตุมีผล

ห่วงที่สาม...“สร้างภูมิคุ้มกัน” การทำธุรกิจไม่ใช่ทำวันเดียว แต่เราทำให้ลูกหลานในอนาคต ฉะนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันล่วงหน้าก็เป็นวัคซีนพยุงธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ ส่วนเงื่อนไขแรก...“องค์ความรู้” การทำธุรกิจต้องรู้การเปลี่ยนแปลงแล้วค้นหาความรู้ความชำนาญของตัวเอง เพื่อพัฒนาหาหนทางเติมให้เต็มในส่วนที่ขาดนั้น

เงื่อนไขที่สอง...“คุณธรรม” เป็นตัวยับยั้งไม่คิดเอาแต่ได้ เพื่อปล่อยให้คนอื่นมีโอกาสทำธุรกิจเท่าเทียบเรา ฉะนั้นเมื่อใดถ้านำ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขนี้เป็นกรอบตัดสินใจ “มักมีผลลัพธ์สู่ 3P อันเป็นหัวใจของธุรกิจสมดุลและยั่งยืน” ทั้งการสร้างกำไรให้พอดี (PROFIT) การใส่ใจผู้เกี่ยวข้อง (PEOPLE) และการดูแลสิ่งแวดล้อม (PLANET)

...

สิ่งนี้ล้วนเกิดจากความโชคดีของประเทศไทยที่มี “พระมหากษัตริย์” วิสัยทัศน์ไกลมองเห็นประเด็นโลกร้อน และความล่มสลายทางสังคมที่จะเกิดขึ้น จึงทรงพระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทยนี้

เช่นเดียวกับ สินสมุทร ศรีแสนปาง นักธุรกิจข้าวศรีแสงดาว จ.ร้อยเอ็ด บอกว่า เดิมมีพื้นเพทำธุรกิจโรงสีในพื้นที่ห่างไกลจากคำว่า “การสร้างแบรนด์” กระทั่งโชคดีเข้ามาร่วมในโครงการพอแล้วดี ส่งผลให้ได้เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเข้ามาช่วยหาความสมดุลในทุกย่างก้าวของการดำเนินธุรกิจของตัวเอง

แต่กว่าจะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต้องใช้เวลา 8 ปี “เริ่มตั้งแต่การท่องให้รู้จักตน มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน รวมถึง ความรู้ คุณธรรม” จนวันนี้สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นดีเอ็นเอไปแล้ว

...

“ปัจจุบันทำให้สามารถสร้างแบรนด์ศรีแสงดาวก่อกำเนิดขึ้นมาเพื่อสร้าง ตัวตนให้ชาวนาไทย และกอบกู้ศักดิ์ศรีให้ข้าวไทยบนเวทีโลก “ในการยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ผสมผสานกับความรู้สมัยใหม่ นำไปถ่ายทอดให้เกษตรกรกับการทำนาหยอด ด้วยการใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนให้เกิดความสมดุล” สินสมุทรว่า

ตอกย้ำนำมาสู่จุดเริ่มต้น “โครงการข้าวศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด” ที่สามารถช่วยเกษตรกรลดการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวลงได้ 35 เท่า “แต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า” จนชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น “ลดการขอ การรอ และรักษาอาชีพทำนาให้คงอยู่ต่อไป” ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุด

การันตีโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจดทะเบียนข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ Geographical Indications (GI) และสินค้าตัวแรกของไทยที่ได้จดทะเบียนไกลถึง “สหภาพยุโรป” แล้ว ยิ่งกว่านั้นเมื่อ 2 ปีก่อน “ข้าวศรีแสงดาว” ถูกส่งออกไปขายในยุโรปเป็นครั้งแรกของประเทศอีกด้วย

...

ในปีที่แล้วยังส่งออกข้าวไปตะวันออกกลางครั้งแรกของประเทศเช่นกัน สิ่งนี้เป็นความภาคภูมิใจจากข้าวศรีแสงดาว ไม่เพียงส่งออกข้าวคุณภาพดีแต่ยังส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชาวนาไทยด้วย

ขณะที่ ศรุตา เกียรติภาคภูมิ เจ้าของ PiN Metal บอกว่า ก่อนหน้านี้ ดำเนินธุรกิจเกือบหลงทางจากความไม่เข้าใจ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” จนเคยตั้งคำถามกับคุณพ่อว่า “เราต้องเลิกโรงงานไปทำนาหรือไม่” กระทั่งมาร่วมโครงการพอแล้วดี ทำให้สามารถปรับแนวคิดสร้างความเข้าใจใหม่

จริงๆแล้ว “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” หยิบยกนำมาปรับใช้ได้ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นบุคคล สังคม หรือสิ่งแวดล้อม อย่างกรณีคุณพ่อทำธุรกิจผู้ผลิตลูกล้อ บานเลื่อน บานสวิง ส่วนใหญ่เน้นการผลิตเป็นจำนวนมากๆ แต่กลับได้ผลกำไรน้อย และเกิดเศษเหล็กเหลือใช้สามารถขายได้ราคาเพียง 10-20 บาท/กก.เท่านั้น

ก่อนลั่นวาจากับคุณพ่อไว้ว่า “จะสร้างเศษเหล็กนี้เกิดมูลค่าสูงกว่าธุรกิจที่มีอยู่ให้ได้” สิ่งนี้ผลักดันนำมาสู่การเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง เริ่มต้นจาก “การรู้ประมาณตน” ด้วยเรียนจบศิลปกรรมศาสตร์ และเป็นลูกสาวเจ้าของโรงงานผลิตลูกล้อ บานเลื่อน ดังนั้นต้องทำในสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดผลดีงามสูงสุด

ถัดมาก็เริ่ม “การมีเหตุมีผล” เดิมเคยวิ่งหนีความเป็นแมสโปรดักชัน เพราะด้วยเรียนจบศิลปกรรมทำให้ตั้งสติหันมาทำงานมาสเตอร์พีซ “ลดความเป็นศิลปินลง หันมาเป็นศิลปะประยุกต์มากขึ้น” ทำให้เบนเข็มความเป็นศิลปินมาสร้างผลงานศิลปะเริ่มเข้ามาสู่โลกฝั่งการออกแบบมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่งผลให้นำ “เศษเหล็กที่เคยขาย กก.ละ 10–20 บาท” มาสร้างออกแบบให้เป็นชิ้นงานเกิดมูลค่าราคาหลักหมื่นบาทจนถึงหลักล้านบาทได้ แต่การได้มาของรายได้เพิ่มขึ้นนี้ ต้องหันมาดูแลคุณภาพชีวิตของคนงานพร้อมไปด้วย เพราะเป็นบุคคลร่วมงานกับเรามาตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนั้นการดำรงชีวิตของเขาก็ควรต้องมีคุณค่าที่ดีเช่นกัน

สุดท้ายฝากไว้ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักการพัฒนาให้เราก้าวเดินอย่างมั่นคง มีสติ และไม่โลภมาก เพราะบางครั้งงานเข้ามามากคนมักกอบโกยหวังรายได้แต่ไม่มองศักยภาพสามารถรับงานไหวหรือไม่ กลายเป็นทำงานไม่ทันทุกอย่างก็พังลง ดังนั้น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นคำเตือนสติให้รู้จักพอดีนั้นเอง

ทั้งหมดนี้เป็นความโชคดี “คนไทยอาศัยบนพื้นดินที่มีพระมหากษัตริย์” ทรงมีวิสัยทัศน์ลึกซึ้งกว้างไกลทรงมองเห็นเศรษฐกิจระยะยาวต้องเติบโตจากการพัฒนา “จึงพระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยอยู่ได้อย่างมีความสุขจนถึงทุกวันนี้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม