สุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

“เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ”

บางท่านอาจไม่ทราบว่า ประโยคอันทรงพลังที่ตรึงใจหลายต่อหลายท่านข้างต้นนี้นำมาจากบทความ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่ได้ประพันธ์ไว้โดย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่งท่านได้แสดง “ความหวัง” ต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยไว้อย่างรอบด้าน ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ทศวรรษของบทความนี้ ผนวกกับเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาและการดำเนินนโยบายสาธารณะ คือ การยกระดับ “คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในประเทศ” ธปท. ร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2566 ในหัวข้อ “คน : The Economics of Well-Being” เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 เพื่อทบทวนว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานั้น เราได้ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความหวังให้กับคนไทยมาได้มากน้อยแค่ไหน

BOT Symposium 2023 เริ่มต้นจากการ “อยู่ดี” ตั้งแต่วัยเยาว์ วัยทำงาน วัยชราภาพ จนกระทั่งถึงการ “ตายดี” สอดคล้องกับช่วงชีวิตของคนคนหนึ่งที่เริ่มตั้งแต่ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” โดยมีการนำเสนอบทความทางวิชาการต่างๆ การเสวนา และการนำเสนอในรูปแบบ Perspectives ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่นี่ โดยช่วงที่ผู้เขียนประทับใจเป็นพิเศษ คงจะหนีไม่พ้นสุนทรพจน์กล่าวเปิดสัมมนาโดยท่านผู้ว่าการ ธปท. ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้เขียนจึงขอสรุปส่วนหนึ่งมาชวนท่านผู้อ่านคิดตามกันในวันนี้ครับ

...

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เราสามารถตอบโจทย์ที่อาจารย์ป๋วยให้ไว้เมื่อ 50 ปีก่อนได้ดีในหลายด้าน เช่น ปัจจุบันเด็กไทยได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตมากขึ้น แรงงานไทยมีโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้นในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา แต่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ไปถึงเป้าหมายที่อาจารย์ป๋วยหวังไว้ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมาก เช่น ภาวะที่ผู้สูงวัย “แก่ก่อนรวย” และ “ป่วยก่อนตาย” กล่าวคือ ช่วงชีวิต (Life Span) ยาวนานขึ้นแต่ช่วงสุขภาพที่ดี (Health Span) ไม่ยาวนานตาม และขาดความมั่นคงทางการเงิน (Wealth Span) คือ มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอจับจ่ายใช้สอยและรักษาสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีความท้าทายใดๆ “ความหวัง” ยังเป็นสิ่งจำเป็น เราหมดหวังไม่ได้เพราะความหวังช่วยสร้างแรงจูงใจที่ขับเคลื่อนให้เราฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ หันไปดูในหลายๆ ประเทศ ผู้คนหมดหวัง พยายามหาทางอพยพตนเองและครอบครัวไปตั้งหลักแหล่งและหางานในประเทศอื่นๆ เพราะขาดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม เศรษฐกิจไม่เติบโตและขาดเสถียรภาพ

ดังนั้น หากเราต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย เราต้องมีความหวัง โดยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันสร้างความหวังให้คนไทยและเพื่อช่วยกันทำให้ความหวังนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้

ท้ายสุด ดร.เศรษฐพุฒิ หวังไว้ว่า งานสัมมนาวิชาการประจําปีนี้จะสร้างความตระหนักรู้ จุดประกายความคิดและความหวัง ให้พวกเราทุกคนได้เห็นจุดหมายและแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สร้างได้ด้วยมือของพวกเราเองทุกคน ดังที่อาจารย์ป๋วยได้ทิ้งท้ายไว้ในบทประพันธ์ของท่านว่า “นี่แหละคือความหมายแห่งชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่ควรจะให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน”

ผู้เขียนหวังว่า “ความหวังของอาจารย์ป๋วย” เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย จะเป็นจริงได้ในไม่ช้าครับ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” เพิ่มเติม