ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รอง ผอ.รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า เนื่องในวันหัวใจโลก วันที่ 29 ก.ย. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดกิจกรรม USE ♥ KNOW ♥ ใช้ใจรู้หัวใจตัวเอง สร้างเสริมสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงไปด้วยกัน เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน ซึ่งจากสถานการณ์การเสียชีวิตของคนไทยพบว่ามาจากโรคหัวใจขาดเลือดมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ทั้งยังพบอัตราความเสี่ยงและเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) หรือ AF จำนวนมากด้วย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากหัวใจห้องบนซ้ายเต้นผิดจังหวะ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ แต่เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดเฉียบพลัน เพราะภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจะทำให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจห้องบนซ้าย จากนั้นจะถูกส่งมาที่หัวใจห้องล่างซ้ายที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ดังนั้น ถ้าลิ่มเลือดนี้ออกไปอุดในอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะในสมอง ก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะสมองขาดเลือดและการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆตามมา

ศ.คลินิก นพ.อดุลย์กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว มักพบในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดัน นอนกรน หลอดเลือดหัวใจตีบ ไตเรื้อรัง และพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ น้ำหนักตัวมาก เป็นต้น ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมักไม่มีอาการ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว และไม่ได้คัดกรอง อาจรู้ตัวตอนที่มีภาวะของโรครุนแรงแล้ว เช่น เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งการรักษาก็จะยากขึ้น จะมีส่วนน้อยมาก ที่รู้ตัวเพราะมีอาการชัดเจน เช่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม นอนหลับไม่ เพียงพอ จึงแนะนำให้รับประทานอาหารที่ไขมันไม่สูง งดของมัน ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง พักผ่อนให้เพียงพอ ผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นประจำทุกปี รวมทั้งการดูข้อมูลการเต้นของหัวใจในสมาร์ทวอช หากมีการแจ้งเตือนว่ามีภาวะ AF ก็ให้รีบไปพบแพทย์ และหมั่นวัดความดันด้วยเครื่องวัดความดันอัตโนมัติ ซึ่งมีการวัดอัตราการเต้นหัวใจด้วย

...

“การรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ปัจจุบันมีการรักษาด้วยยา เช่น ยาป้องกันเลือดแข็งตัวหรือยาละลายลิ่มเลือด ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจมีนวัตกรรมรักษาด้วยวิธีการจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นวิทยุที่ทำให้เกิดความร้อน และการจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยความเย็น ซึ่งทั้งสองวิธีเป็นวิธีการรักษาที่ได้มาตรฐานสากล สามารถลดอาการของผู้ป่วย ฟื้นฟูสภาพการบีบตัวของหัวใจในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ” รอง ผอ.รพ.จุฬาภรณ์กล่าว.