เมื่อวันที่ 29 ก.ย.66 ที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีงานวันคล้ายวันก่อตั้ง ขสมก.ถึงนโยบายการกำกับดูแล ขสมก.ว่า วันนี้เป็นวันแรกที่มาเยี่ยม ขสมก.ในงานครบรอบ 47 ปี ได้ริเริ่มโครงการราชรถยิ้ม โดยจะหารือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรื่องระบบการรักษาพยาบาลตรงให้กับพนักงาน ขสมก. จากปัจจุบันพนักงานต้องสำรองเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนแล้วค่อยมาเบิกภายหลัง ซึ่งพนักงานมีรายได้น้อยกว่าจะเบิกได้เงินคืนล่าช้ามาก ขณะนี้ได้ทำเรื่องถึง สปสช.แล้ว คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ปีงบประมาณ 67 ตั้งแต่เดือน ม.ค.67 เป็นต้นไป ถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพนักงาน ขสมก. และเป็นนโยบายแรกที่จะเติมขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน ขสมก.

นางมนพรกล่าวว่า ส่วนเรื่องของการให้บริการ อยู่ในแผนขับเคลื่อน ขสมก. (แผนฟื้นฟู ขสมก.) โดยเตรียมจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า หรือ รถอีวี โดยใช้วิธีการเช่าแบบเหมาซ่อม จำนวน 2,013 คัน แบ่งออกเป็น 3 เฟส ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายค่าเหมาซ่อม นอกจากนี้จะมีการหารายได้เพิ่มโดยอู่จอดรถของ ขสมก.2 แห่งที่บางเขน และมีนบุรี พัฒนาเชิงพาณิชย์เป็นที่จอดรถฟีดเดอร์เพื่อเดินทางเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าสายต่างๆ รวมถึงการดูแลเรื่องของความสะอาด ปลอดภัย และราคาที่ทุกคนเข้าถึงบริการของ ขสมก.ได้ ขณะเดียวกันต้องกลับมาดูการพัฒนาองค์กรที่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดปัญหาควันดำ เพื่อไม่ให้ก่อฝุ่น PM2.5 อย่างไรก็ตาม ต้องเร่งรัดการแต่งตั้งบอร์ด ขสมก. ซึ่งไม่มีมาปีกว่าแล้ว ซึ่งการดำเนินการต่อเนื่องต้องจัดหาบอร์ดให้ครบองค์ประกอบการพิจารณาโครงการต่างๆก่อน ตามขั้นตอนคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง และต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ทั้งนี้ หลังจากได้บอร์ดเรียบร้อยแล้ว จะเร่งรัดเรื่องการจัดหารถอีวีก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่างทีโออาร์ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องเสนอบอร์ดอนุมัติ ซึ่งกระบวนการประกวด ราคาจัดหารถจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 4 เดือน อย่างไรก็ตามจะพยายามให้ได้รถโดยเร็วที่สุด

...

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผอ.ขสมก. กล่าวว่า การจัดหารถอีวีทั้งหมด 2,013 คัน เฟสแรก จำนวน 224 คัน เฟส 2 จำนวน 1,020 คัน และเฟส 3 จำนวน 769 คัน สำหรับวงเงินเฟสแรกที่เคยประเมินไว้ประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งผ่านมาปีกว่าแล้ว ต้นทุนต่างๆอาจจะเพิ่มขึ้น เรื่องนี้รัฐมนตรีกำชับให้พิจารณาอย่างรอบคอบ หลังจากยกร่างทีโออาร์เสร็จแล้ว จะต้องเสนอบอร์ดพิจารณา ก่อนส่งให้กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบตามลำดับ สำหรับวิธีการจัดหารถจะใช้ระบบเช่าเหมาซ่อม ระยะเวลาการเช่าประมาณ 2-3 ปี เหตุผลที่เช่าระยะสั้นๆ เพื่อต้องการนำรถมาบรรจุเส้นทางที่ยังไม่ได้บรรจุตามที่กรมการขนส่งทางบกอนุมัติ อีกทั้งต้องการประเมินความคุ้มค่าการลงทุนก่อนดำเนินการเฟสต่อไป.