เชื่อว่า...“การศึกษา” ที่แท้ต้อง เป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง มีทางเลือกที่หลากหลายและตอบโจทย์ชีวิต เพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้มีโอกาสค้นพบคุณค่าของตัวเอง
พุ่งเป้าไปที่เด็กที่ขาดโอกาสในมิติปัญหาต่างๆในเชิงปริมาณพวกเขาอาจจะเป็นเพียงกลุ่มน้อยในสังคม หากแต่เมื่ออ้างอิง “ทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก” แล้ว...“คนเพียงคนหนึ่ง” นั้นสามารถสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ให้กับสังคมได้ ถ้าเขาไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่เพียงพอ
ดังนั้น...เราจะไม่ยอมทิ้งใครไว้แม้แต่คนเดียว เด็กเยาวชนทุกคนไม่ว่าใครก็ตามเขาควรได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพื่อไปให้สุดเส้นทางตามศักยภาพที่เขามี
โดยเฉพาะการจัดการศึกษาเพื่อสร้าง “โอกาส” ให้เด็ก...เยาวชนที่เคยก้าวพลาดให้กลับเข้าสู่เส้นทางชีวิตที่ถูกต้อง รูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย...ตอบโจทย์ชีวิต คือเครื่องมือสำคัญ
...
นับรวมไปถึงกระบวนการติดตามที่จะดูแลช่วยเหลือให้ทุกคนก้าวออกไปอย่างมั่นคง มีแรงบันดาลใจและรู้สึกปลอดภัยในการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
ประเด็นสำคัญมีอีกว่า...จากการลงพื้นที่รับฟังเสียงของน้องๆ เขาเชื่อมั่นว่าจะทำได้ดีถ้าได้รับโอกาส ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ตัวเอง แต่โอกาสนั้นคือการคืนชีวิตของเขาไปสู่ครอบครัว ไปสู่อนาคตของสังคมไทย
“สร้างโอกาสการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่”...ระบบการศึกษาที่ไม่ทิ้งเด็กและเยาวชนคนใดไว้ข้างหลัง (Education For All)
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา บอกว่า จากข้อมูลกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม จะเห็นได้ว่า...เกินกว่าครึ่งของเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรือพ่อแม่แยกกันอยู่
“ส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจนและไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องสร้างโอกาสให้เขาแทนที่จะตัดสินพวกเขา ด้วยความเชื่อว่าเด็กและเยาวชนทุกคนมีศักยภาพ ไม่ว่าพวกเขาจะกำลังเผชิญกับปัญหาใดก็ตาม ระบบการศึกษาต้องสร้างโอกาสและไม่ละทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงริเริ่ม โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาทางเลือก สำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มูลนิธิปัญญากัลป์และเครือข่ายศูนย์การเรียนอีก 6 แห่ง
เราเริ่มทำกันมาตั้งแต่ต้นปี 2564 เพื่อใช้การศึกษาเป็นทั้งเกราะป้องกันและเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างสมดุล...มีความสุขในการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเป็นองค์รวม และตระหนักในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเอง
“ศูนย์การเรียนรู้” จึงเป็นรูปแบบสร้างโอกาสการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่เพื่อเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม พุ่งเป้าไปที่เด็กที่สนใจเข้าศึกษาตามแนวทางการศึกษาทางเลือก, เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษามาเป็นระยะเวลาที่ไม่เหมาะสมกับการเลือกเรียนหลักสูตร กศน.
เด็กที่ไม่มีความพร้อมในการศึกษาต่อด้วยระบบโรงเรียน เพื่อใช้ฐานการฝึกอาชีพ เป็นการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้เพื่อการศึกษาต่อ สายอาชีพหรือมีงานทำ, เด็กที่กลับไปประกอบอาชีพร่วมกับครอบครัว โดยประสานกับเครือข่ายศูนย์การเรียนของสถาบันสังคม
ได้แก่ ศูนย์การเรียนซี วาย เอฟ, ศูนย์การเรียนเซนต์ยอนห์ บอสโก, ศูนย์การเรียนเซนต์ยอนห์ บอสโก ปทุมธานี, ศูนย์การเรียนเซนต์ยอนห์ บอสโก กบินทร์บุรี, ศูนย์การเรียนเซนต์ เทเรซา, ศูนย์การเรียนเซนต์เทเรซา เซ้าท์เทิร์น, ศูนย์การเรียนเดวิด คอลลินส์, ศูนย์การเรียนสยามวิชชาลัย
เพื่อส่งต่อเด็ก...เยาวชนระหว่างการฝึกและอบรมภายในศูนย์ฝึก... สถานพินิจ และภายหลังที่ได้รับการปล่อยตัวเพื่อศึกษาต่อ
...
ลงลึกในรายละเอียด “โอกาสโมเดล” รูปแบบการศึกษาที่เป็นทางออกสำหรับผู้เรียนที่หลุดหล่นจากระบบการศึกษากลางทาง จะต้องมีกระบวนการยืดหยุ่นหลากหลาย ออกแบบให้สอดคล้อง ตอบโจทย์ชีวิตเป็นรายคนได้ และหลักสูตรกิจกรรมการเรียนการสอนออกแบบตามความสนใจ...ความถนัดของผู้เรียน
ทั้งยังต้องอยู่บนฐานของวิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรมที่แตกต่าง เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้และสมรรถนะ ควบคู่กับการส่งเสริมทักษะชีวิตให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตในสังคม
นอกจากนี้แล้วต้อง “เรียนจากประสบการณ์ตรง” นั่นก็คือจัดการเรียนรู้แบบโครงงานฐานอาชีพร่วมกับสถานประกอบการ ให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะผู้ประกอบการ ได้ฝึกทักษะวิชาชีพตามความสนใจและความถนัด ได้ลองทำงานจริง...ฝึกประสบการณ์ในสถานที่จริง
“...ไม่แยกวิถีชีวิตทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ...การศึกษาออกจากกัน ผู้เรียนสามารถเรียนและทำงานไปด้วย เพราะมีความยืดหยุ่นทั้งการจัดการเวลา การจัดกิจกรรมตามความถนัด ความสนใจของผู้เรียน เสริมจุดเน้นที่สอดคล้องกับความต้องการพิเศษ หรือเพื่อพัฒนาทักษะพิเศษเฉพาะทางตามต้องการ”
...
นับรวมไปถึงมีอิสระในการออกแบบวัดประเมินผลตามสภาพจริงของพัฒนาการของผู้เรียนเป็นรายบุคคล สามารถนำประสบการณ์จากการประกอบอาชีพหรือการทำกิจกรรมตามความถนัด ความสนใจ เทียบประเมินเป็นผลการเรียน โดยประเมินจากความรู้ ความสามารถ ทักษะ หรือประสบการณ์ผู้เรียน
มุ่งเน้น คำนึงถึงประโยชน์ของ “ผู้เรียน” เป็นสำคัญ
เชื่อมโยงหลักปฏิบัติสำคัญ...พื้นที่และสื่อการเรียนรู้ไม่มีกรอบของห้องเรียน โรงเรียนไม่มีข้อจำกัดเรื่องระเบียบของอาคารสถานที่เรียน สื่อการเรียนรู้ เรียนได้ทุกที่...ทั้งที่บ้าน ชุมชน ธรรมชาติ แหล่งเรียนรู้อื่นๆ เช่น Mobile School และสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันได้โดยไม่มีข้อจำกัด
ย้ำว่า... “ศูนย์การเรียนรู้” คือการปฏิรูปการจัดการศึกษาให้มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับบริบท ตัวตน ความสามารถของผู้เรียน ตามแนวทางของการจัดการศึกษาทางเลือก สามารถเทียบโอนประสบการณ์เพื่อแปลงเป็นหน่วยกิตและเข้าศึกษาต่อเนื่องตามระดับชั้นที่เรียนค้างไว้
“เมื่อเด็กและเยาวชนออกไปจากที่นี่ ก็สามารถกลับไปศึกษาต่อที่สถาบันเดิมได้ทันที รวมถึงผู้ที่จบการศึกษาขณะอยู่ข้างในก็จะได้วุฒิบัตรไปใช้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือใช้ต่อยอดสมัครทำงานกับสถานประกอบการ”
“ครูเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน บรรยากาศเปลี่ยน” คือภาพอนาคตที่จะเกิดขึ้น...ครูเป็น “โค้ชชีวิต” ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเชิงลึก สามารถดูแลเด็กเยาวชนได้อย่างต่อเนื่อง จนเห็นเส้นทางชีวิตชัดเจนขึ้น และเชื่อมโยงให้เข้าถึงการเรียนรู้ในรูปแบบที่เหมาะสมตามบริบทของตนเอง...เป็นครูที่เชื่อมั่นในตัวเด็ก ให้โอกาส
พวกเขา...เด็กๆ มี “โอกาส” ปล่อยพลังและความสามารถในตนเองออกมา และมีครูคอยเติมเสริม แก้ไข เรียกว่า...เป็นทั้งครูต่อยอด ครูข้ามขอบ ครูเสริมพลัง ครูนักจัดการเรียนรู้
...
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา “โมเดลโอกาสทางการศึกษา” ข้างต้นนี้เกิดขึ้นแล้ว คาดหวังว่าเด็ก...เยาวชนที่ได้รับโอกาสจะเอา “ชีวิต” เป็นตัวตั้งไม่ผิดซ้ำจากการคบเพื่อน คึกคะนอง รู้เท่าไม่ถึงการณ์.