นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า กองสุขศึกษา สบส.ได้เฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ประเด็นพฤติกรรมการถูกกลั่นแกล้งรังแกหรือการบูลลี่ เก็บข้อมูลวันที่ 21 ก.ค.-10 ส.ค.2566 จำนวน 37,271 คน ร่วมกับสำนักการศึกษากรุงเทพมหานครและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพบว่า เด็กและเยาวชนเคยถูกกลั่นแกล้งรังแก ร้อยละ 44.2 โดยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนสูงถึงร้อยละ 86.9 และเรื่องที่ถูกกลั่นแกล้งรังแก ได้แก่ ล้อเลียนหน้าตาหรือบุคลิก ร้อยละ 76.6 ตอกย้ำปมด้อย ด่าทอ ร้อยละ 63.3 ทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 55.1 สบส.ขอแนะนำวิธีปฏิบัติเมื่อถูกกลั่นแกล้งรังแก ให้ตั้งสติ ไม่ใส่ใจ มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่ใช้กำลังและรู้วิธีจัดการตนเองเมื่อถูกบูลลี่

ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ยุวอาสาสมัครสาธารณสุขเป็นเยาวชนจิตอาสาที่สามารถให้การช่วยเหลือและแจ้งกับครูที่ปรึกษาในการเฝ้าระวังสังเกต และให้การช่วยเหลือนักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน ร่วมกับการดูแลทางด้านจิตใจ สนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น ซึ่งครอบครัวมีส่วนสำคัญในการสร้างรากฐานให้มีพฤติกรรมที่ไม่รุนแรงไม่ก้าวร้าวและไม่แสดงกิริยาข่มขู่ รวมทั้งมีการสังเกตพฤติกรรมของคนในครอบครัวว่ามีพฤติกรรมถูกบูลลี่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายยุวอาสาสมัครสาธารณสุขในการเฝ้าระวัง และเป็นหูเป็นตาจากการถูกบูลลี่ในสถานศึกษาระดับชุมชนต่อไป.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่