โครงการ “การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์” เป็นอีกโครงการที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนวิจัยให้ รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการ หนึ่งในภารกิจสำคัญคือ การถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตทุเรียนคุณภาพสูงจากการวิจัยและพัฒนาการชักนำรากลอยและนวัตกรรมการให้น้ำแบบที่ราบลุ่ม (BF) ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเบตง จ.ยะลา อีกหนึ่งทุเรียนที่มีอัตลักษณ์ไม่ซ้ำใคร

“ในอดีตการผลิตทุเรียนในพื้นที่ลุ่มน้ำ ไม่ได้พึ่งพาสารเคมี แต่กลับได้ผลผลิตที่ดี ไม่ประสบปัญหารากเน่าโคนเน่า ยอดทุเรียนแห้งเป็นก้านธูป ใบร่วงทั้งต้นและยืนต้นตายเหมือนในปัจจุบัน จากข้อสังเกตและปัญหานี้จึงนำมาสู่แนวทางการวิจัย เพื่อแก้ปัญหาซ้ำซากในการผลิตทุเรียนของไทย ที่ได้เริ่มนำเคมีเกษตรเข้ามาเพื่อเพิ่มผลผลิต จนเกิดปัญหาการพึ่งพาสารเคมีจนเกินไป เป็นปัญหาต่อผู้บริโภค จากการวิจัยเราพบว่าปัจจัยที่สามารถลดการใช้สารเคมีได้ ทำให้ประหยัดต้นทุน และปลอดภัยต่อผู้บริโภคคือ การปลูกแบบชักนำรากลอย และการให้น้ำแบบที่ราบลุ่ม”

...

รศ.ดร.วรภัทร บอกถึงงานวิจัยนวัตกรรมการผลิตทุเรียนคุณภาพสูง จนได้นวัตกรรมการสร้างระบบนิเวศชักนำรากลอย และการให้น้ำทุเรียนแบบ BF ที่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาค...นวัตกรรมการสร้างระบบ นิเวศชักนำรากลอยเป็นนวัตกรรมที่สร้างระบบนิเวศให้มีฮิวมัสและสารคีเลต เพื่อให้รากฝอยหาน้ำและแร่ธาตุร่วมกับจุลินทรีย์ในดินอย่างสมดุล โดยปล่อยให้รากลอยจากพื้นไม่เกิน 30 ซม. ให้รัศมีรากลอยไม่เกินทรงพุ่ม นำไม้ไผ่รองพยุงรากให้อากาศผ่าน แล้วนำใบไม้ เศษวัสดุธรรมชาติมาปิดทับ

“ผู้ที่ผ่านการอบรม และนำไปปฏิบัติล้วนประสบผลสำเร็จ สามารถฟื้นต้นทุเรียนจากรากเน่าโคนเน่า และต้นโทรม ทั้งต้นเล็กและต้นอายุหลายสิบปี ช่วยประหยัดปุ๋ย และสารเคมีเกษตรได้อย่างมาก ทุเรียนไม่เป็นไส้ซึม มีคุณภาพดี ได้ทุเรียนคุณภาพจากต้นทุเรียนที่โทรมใบเล็ก ยอดทุเรียนแห้งเป็นก้านธูป บางแปลงมีโรครากเน่าโคนเน่า สามารถฟื้นต้นกลับมามีสุขภาพแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคและแมลงได้ด้วยตัวเอง ไม่กลับมาเป็นโรคซ้ำ กิ่งแต่ละกิ่งสามารถแตกยอดได้สามครั้งในหนึ่งปี เป็นผลให้สามารถลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีจากเดิม เหลือแค่ไม่เกินราคาฟางแห้งก้อนเดียว”

ส่วนการปรับเปลี่ยนระบบการให้น้ำกับต้นทุเรียน จากเดิมทุเรียนแถบเบตงเคยให้น้ำตอนกลางคืน ปรับมาเป็นแบ่งการให้น้ำออกเป็นสามช่วงในแต่ละวัน ช่วงเช้าก่อน 08.00 น. ให้น้ำเต็มความสามารถอุ้มน้ำของดิน พืชสามารถดึงน้ำและธาตุหลักและธาตุรอง เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงได้ โดยไม่แสดงการขาดธาตุที่จำเป็น ช่วงที่สองเวลา 11.00-12.00 น. เป็นเวลาที่ทุเรียนและไม้ผลทั่วไปที่ปลูกในแปลงแบบไม่ยกร่องสวน มักหยุดการสังเคราะห์แสง และเป็นช่วงที่น้ำในระบบน้ำใต้ดิน และระบบน้ำในแถบลุ่มน้ำมีน้ำขึ้นน้ำลงสูงสุดในช่วงวัน จึงมีการให้น้ำช่วงนี้ตามน้ำขึ้นน้ำลงจากอิทธิพลของดวงจันทร์ เป็นช่วงที่ทำให้ทุเรียนสร้างกลิ่นหอมดอกไม้เฉพาะตัวออกมา

...

และช่วงที่สามเวลา 13.00 น. และ 14.00 น. ช่วงนี้ในพื้นที่ปลูกแบบไม่ยกร่องสวนทุเรียนจะปิดปากใบเช่นกัน จึงทำการให้น้ำตามค่า vapor pressure deficit (VPD) ประมาณ 10–15 นาที จนทรงพุ่มมีค่า VPD ที่เหมาะสมและเริ่มสังเคราะห์แสง ต่อไปจนแสงสุดท้ายประมาณ 16.00 น. ทำให้ทุเรียนสามารถสังเคราะห์แสงได้นาน 6–8 ชั่วโมง (อาจแตกต่างกันไปตามพื้นที่) พบว่าทุเรียนหมอนทองที่อายุ 120 วันหลังผสมเกสรแล้ว (หางแย้) มีน้ำหนักแห้งของเนื้อเฉลี่ยร้อยละ 34 และเมื่ออายุ 140 วัน มีค่า DM เฉลี่ยร้อยละ 37 เมื่อเก็บเกี่ยวตามปกติที่ 150–160 วัน เนื้อทุเรียนหมอนทองและพันธุ์อื่นๆจะเนื้อแห้ง ไม่เป็นไส้ซึม เต่าเผา เนื้อเหนียวเนียนละเอียดเป็นครีมคล้ายชีสเค้ก เนื้อมีกลิ่นหอมดอกไม้เฉพาะตัว เส้นใยละลายน้ำได้ทั้งหมด เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ 09–2985–4098.

กรวัฒน์ วีนิล

คลิกอ่านคอลัมน์ “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม

...