เมื่อวันที่ 12 ก.ย.66 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ รอง ผอ. สำนักการศึกษา กทม. แถลงข่าวเรื่องการยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้เด็กปฐมวัยช่วง 2-6 ขวบ ในกรุงเทพมหานคร และแนวทางการจัดการศึกษาภายใต้งบประมาณ ปีงบประมาณ 2567 โดยระบุการจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล ว่า แม้สภา กทม.จะยังไม่อนุมัติงบประมาณการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น 219 ล้านบาท กทม.ได้จัดทำแนวทางในการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น (ห้องเรียนขนาดเฉลี่ย 49-64 ตารางเมตร) ไว้ดังนี้ แนวทางที่ 1 Positive Pressure ซีลห้องเป็นระบบปิด ติดตั้งเครื่องเติมอากาศบริสุทธิ์ โดยร่วมกับ “ไทยพีบีเอส” และ “ภาคีรวมพลังสู้ฝุ่น” และแนวทางที่ 2 ใช้แอร์ และโซลาร์เซลล์ โดยติดตั้งเครื่องปรับอากาศและเครื่องวัดอากาศ รวมถึงติดตั้งโซลาร์เซลล์และเครื่องกรองอากาศ ซึ่งสามารถติดตามผลฝุ่นหรือคาร์บอนที่ลดได้ โดยร่วมกับ “เอกชน” ในรูปแบบของ CSR โดยหากภาคเอกชนสนใจที่จะร่วมทำ CSR ปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นกับทางกรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อได้ที่สำนักการศึกษา โทร.0-2437-6631 ในวันและเวลาราชการ

สำหรับการคำนวณค่าไฟ ได้วางแนวทางไว้ 3 กรณี 1.เปิดช่วงนอนกลางวัน 2 ชั่วโมง คิดเป็น 12.48 บาทต่อวันต่อเครื่อง 2,995.2 บาทต่อปีต่อเครื่อง 2.เปิดช่วงวิกฤติฝุ่นครึ่งวัน 4 ชั่วโมง คิดเป็น 24.96 บาทต่อวันต่อเครื่อง 5,990 บาท ต่อปีต่อเครื่อง และ 3.เปิดช่วงวิกฤติฝุ่นเต็มวัน 8 ชั่วโมง คิดเป็น 49.92 บาทต่อวันต่อเครื่อง 11,980.8 บาทต่อปีต่อเครื่อง ซึ่งปัจจุบัน กทม.ได้รับงบประมาณ (งบอุดหนุน) เป็นค่าจัดการเรียนการสอนอยู่ที่ประมาณ 640 ล้านบาท โดยมีกรอบค่าไฟให้ใช้ไม่เกิน 40% และปัจจุบันเราใช้แค่ประมาณ 172.24 ล้านบาท หรือประมาณ 27% กทม.สามารถบริหารจัดการค่าไฟไม่ให้เกินกรอบที่ได้รับเงินอุดหนุนนี้.

...