กอ.รมน. ร่วมทำลายสินค้าละเมิดกว่า 1.2 ล้านชิ้น มูลค่า 605 ล้านบาท มุ่งขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทุกรูปแบบ ทุกช่องทาง พร้อมขอความร่วมมือ ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่ใช้ของปลอม
เมื่อวันที่ 31 ส.ค.66 ณ ลานอเนกประสงค์ กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 7 กอ.รมน. โดย พล.ท.วิภูษณะ คล้ายมณี ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในอาณาจักร ได้ร่วมพิธีทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่คดีถึงที่สุดแล้ว ปี 2566 ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมศุลกากร และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พร้อมด้วยเอกอัครราชทูต และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา หน่วยงานต่างประเทศ และผู้แทนประเทศคู่ค้า ร่วมเป็นสักขีพยานในวันนี้ โดยมี นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นประธานในพิธี
พิธีทำลายของกลางเป็นพิธีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า และทุกภาคส่วนมั่นใจได้ว่าสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวจะไม่กลับสู่ท้องตลาดอีกต่อไป โดยจำนวนและมูลค่าของของกลางปี 2566 ที่รวบรวมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมศุลกากร มีทั้งสิ้น 1,253,529 ชิ้น เป็นมูลค่า 605.8 ล้านบาท โดยยึดของกลางจากแหล่งการค้า และออนไลน์ อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า เข็มขัด รองเท้า นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ แว่นตา เครื่องสำอาง อะไหล่รถยนต์ พัดลม และของเล่น เป็นต้น ซึ่งพิธีนี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่จะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าขององค์การการค้าโลก และการทำลายเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม อันจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า นักลงทุน รวมถึงเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสินค้าละเมิดเหล่านี้นอกจากจะทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังเป็นสินค้าที่ด้อยคุณภาพและไม่ได้มาตรฐาน
...
"การดำเนินการทำลายสินค้าละเมิดเหล่านี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมโลกได้รับรู้ว่าประเทศไทยมีระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ดำเนินการอย่างเข้มแข็งและเข้มงวด ซึ่งที่ผ่านมามีผลการจับกุมที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยได้รับความร่วมมือจากรัฐ และเอกชน โดยเฉพาะทาง E-commerce ซึ่งการซื้อขายสินค้าละเมิดมีการกระทำบนโลกออนไลน์มากขึ้น สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและต่างประเทศสำหรับความร่วมมือในการปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในครั้งนี้" นายวุฒิไกร กล่าว
ทั้งนี้ กอ.รมน. จะมุ่งมั่นบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา ในการป้องปราม และแก้ไขปัญหาสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่องทุกรูปแบบ และทุกช่องทาง เพื่อสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับประเทศ ดึงดูดการลงทุนภายในประเทศ พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือจากประชาชนและผู้ประกอบการ ไม่ซื้อ ไม่จำหน่าย และใช้สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากการใช้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพและอาจเป็นอันตรายต่อไป
...