“ไทยรัฐกรุ๊ป” จัดกิจกรรม ROAD TO NET ZERO : CHANGE FOR SUSTAINABILITY ปลุกจิตสำนึกนักท่องเที่ยว สร้างความเข้าใจ เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนของประเทศไทยและของโลก โดยจับมือกับ ททท.ที่มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Tourism) ชี้ตั้งแต่ปี 2568 ภาคเอกชนที่ร่วมทำการตลาดกับ ททท.ต้องได้ “ดาวแห่งความยั่งยืน” หรือมาตรฐานด้านความยั่งยืนเท่านั้น ขณะที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯมีเป้าหมายเข้าไปฟื้นฟูป่าชุมชนทั่วประเทศ 6 ล้านไร่ ด้าน “กรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา” นักแสดง-นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชวนเริ่มต้นความเป็นนักท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เที่ยวแบบมีขยะน้อยชิ้นที่สุด
“ไทยรัฐ กรุ๊ป” จัดกิจกรรม ROAD TO NET ZERO : CHANGE FOR SUSTAINABILITY ปลุกจิตสำนึกสร้างความเข้าใจ เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนของประเทศไทยและของโลก โดยจับมือกับการ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและผลิตภัณฑ์ Eucerin จัดขึ้นรวม 2 วัน คือวันที่ 29 และ 30 ส.ค. ที่ลานกิจกรรม ชั้น G ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ในงานมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก ประชาสัมพันธ์ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวแบบ Low Carbon รวมทั้งมีการออกบูธกิจกรรม อาทิ บูธบริจาคเสื้อผ้ามือสอง “เสื้อล้นตู้ หนูขอนะ” โดยไทยรัฐกรุ๊ปและบูธจากผู้ประกอบการโรงแรม บูธสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน กิจกรรมการผลิตสวนในขวดแก้ว พร้อมทั้งเปิดพื้นที่กิจกรรม “Road to Net Zero” ให้ประชาชนรับความรู้และมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้วย
สำหรับกิจกรรม ROAD TO NET ZERO : CHANGE FOR SUSTAINABILITY วันแรกเมื่อบ่ายวันที่ 29 ส.ค. มีการเสวนาหัวข้อ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก” มี น.ส.จิตสุภา วัชรพล ผู้บริหารไทยรัฐ กรุ๊ป นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. น.ส.สุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา นักแสดง-นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เข้าร่วมเสวนา รวมถึงร่วมพูดคุยกับ “บอส” และ “โนอึล” นักแสดงจากซีรีส์ เรื่องบรรยากาศรัก ในมุมมอง “การใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวแบบ Net Zero” มินิคอนเสิร์ตโดยบอสและโนอึล วันที่ 30 ส.ค. มีเวทีพูดคุยกับ “ซันนี่-วรรณรัตน์ วัฒดาลิมมาและปลั๊ก-ณภัทร ลีฬหาทร” สองนักแสดงหน้าใหม่จากซีรีส์วายแนวโรแมนติกคอมเมดี้ ที่จะมาแชร์มุมมอง “การใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวแบบ Net Zero” พร้อมมินิคอนเสิร์ตของซันนี่กับปลั๊กและวงดนตรีนักศึกษา
...
น.ส.จิตสุภา กล่าวว่า ไทยรัฐกรุ๊ปตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่นับว่าเป็นมหันตภัยร้ายแรงของโลกและของไทย สื่อในเครือ “ไทยรัฐ กรุ๊ป” ประกอบไปด้วยหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ผลิตภัณฑ์ Eucerin จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อปลุกจิตสำนึกเพื่อความยั่งยืนของโลก ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เรื่องการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Tourism)
“เรามองว่าการเริ่มต้นเป็นนักท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเส้นทางที่จะเข้าสู่ Net Zero จะต้องเริ่มที่ความเข้าใจและตระหนักรู้ โดยให้มองจากสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเราว่าเปลี่ยนแปลงไปจาก 5-10 ปีที่ผ่านอย่างไร แล้วจะเห็นว่าโลกเข้าสู่วิกฤติหรือ Crisis แล้ว ไม่ใช่แค่ Change ในฐานะสื่อ ”ไทยรัฐ กรุ๊ป“ จะให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าวและสกู๊ปข่าวที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเข้าใจ ปลุกจิตสำนึกเพื่อความยั่งยืนของโลก ขณะที่ไทยรัฐทีวีมีการผลิตแอนิเมชันให้ความรู้ด้าน Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายใต้ชื่อ “ย.ยักษ์ รักษ์โลก” โดย “ย.ยักษ์ ยักษ์เขียว” เป็นมาสคอต สัญลักษณ์สื่อถึงความเป็นไทยรัฐ ที่จะสร้างความเข้าใจและปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยโลกให้ยั่งยืน” น.ส.จิตสุภากล่าว
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว วันนี้เราเห็นโลกที่ร้อนมากขึ้น สอดคล้องกับหน้าที่และทิศทางของ ททท. ที่จะต้องการช่วยสร้างการท่องเที่ยวมีคุณภาพ คุณค่าและความยั่งยืน ช่วยให้นักท่องเที่ยวกับผู้ประกอบการตระหนัก มีความรักและช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยวของเราเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยได้มุ่งขับเคลื่อนการท่องเที่ยวด้วยเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Goals : STGs) มุ่งสู่การท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เป็นการพัฒนาจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมายของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ จะนำไปพัฒนาตามบริบททางการท่องเที่ยว โดยจัดทำคู่มือเกณฑ์มาตรฐานท่องเที่ยวยั่งยืน “STGs Easy”ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานความยั่งยืน สร้างการท่องเที่ยวมีมาตรฐานการให้บริการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การท่องเที่ยวยั่งยืนในอนาคต
“ในปี 2568 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภาคเอกชนที่จะร่วมงานกับ ททท.จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับ “ดาวแห่งความยั่งยืน” มาตรการด้านความยั่งยืน หรือมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น จึงจะร่วมงานกับ ททท. ในการทำการตลาดท่องเที่ยวได้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในประเทศหรือต่างประเทศ โดยอาจเป็นมาตรฐานที่จัดทำโดยหน่วยงานอื่น หรือมาตรฐานด้านความยั่งยืนของ ททท.ประกอบด้วย โครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating หรือการแจกดาวแห่งความยั่งยืน เมื่อผู้ประกอบการผ่านเกณฑ์การประเมินตนเอง ตามคู่มือ STGs Easy หากผ่าน 3 ข้อ จะได้ 3 ดาว ผ่าน 6 ข้อจะได้ 4 ดาว ที่ดีที่สุดคือผ่าน 9 ข้อจะได้ 5 ดาว หรือโครงการ CF-Hotels สำหรับธุรกิจโรงแรมในการลดผลกระทบก๊าซเรือนกระจกของโรงแรมและโครงการ Thailand Tourism Awards ที่เพิ่มรางวัลประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน ให้กับแหล่งท่องเที่ยว ที่พักนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รายการนำเที่ยว หรือสถานประกอบการอื่นๆ
ผู้ว่าการ ททท. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ททท.พยายามหาแนวร่วมมาตลอดที่จะช่วยในเรื่องการส่งเสริมความยั่งยืน และการลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ดีใจมากที่สื่อในเครือไทยรัฐตระหนักและสร้างความมีส่วนร่วม จะช่วยให้นักท่องเที่ยวไทยตระหนักและมีความรู้มากขึ้นถึงการเที่ยวว่า จะเริ่มต้นสู่การเป็นนักท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมความรู้กับเด็กและเยาวชน ที่จะเป็นทูตความยั่งยืนในการท่องเที่ยวในอนาคต ปีนี้ ททท. ทำโครงการ STGs Youth Camp สร้างเยาวชนที่รักษ์โลก ท่องเที่ยวแบบดูแลสิ่งแวดล้อม ได้รับความสนใจมาก ได้ทำต่อเนื่องปีหน้าเป็นปีที่ 2 เชื่อว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นวันนี้ อาจทำให้เราทำ Net Zero สำเร็จได้ก่อนปี 2573 ก็ได้
...
ด้าน น.ส.สุภัชญากล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมมือภาครัฐ ชุมชนและ 14 เอกชนชั้นนำขยายผล “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ใน 77 ป่าชุมชน ตั้งเป้าหมายในปี 2566 จำนวน 100,000 ไร่ จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ชุมชน 500 ล้านบาท กักเก็บคาร์บอน 500,000 ตัน พร้อมวางเป้าหมายในปี 2567 จะมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือมากขึ้น เพื่อขยายงานครอบคลุมพื้นที่อีก 150,000 ไร่ นำไปสู่เป้าหมายป่าชุมชนของไทยจะผลิตคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตัน ภายในปี 2570 ภายใต้ความมุ่งหวังสร้างป่าที่สมบูรณ์ ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ชุมชน เป็นการช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อมๆกัน ขณะที่ภาคเอกชนที่ร่วมโครงการสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่เข้าร่วมโครงการนี้ ไปหักลบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการได้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งเป้าหมายให้โครงการนี้ครอบคลุมป่าชุมชนทั่วประเทศ 6 ล้านไร่ การไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้เร็วเท่าใด ขึ้นอยู่กับการเข้ามาร่วมมือของทุกภาคส่วน ดอยตุงมีนักท่องเที่ยว 400,000 คนต่อปี จึงส่งเสริมให้มีการแยกขยะอย่างถูกต้องเพื่อให้ไปถึง Net Zero การท่องเที่ยวที่ช่วยโลก ช่วยสิ่งแวดล้อม เช่น อาจจะไม่เปิดแอร์ทั้งวันทิ้งไว้ที่โรงแรม หรือการใช้ชีวิตเนิบช้าขึ้นแบบนั่งรถไฟ นอกจากช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ยังเป็นการเข้าถึงชุมชนด้วย
ขณะที่กรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ดารานักแสดง-นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (carbon neutral tourism) เป็นเทรนด์ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอย่างมาก โดยลดการใช้พลังงาน ลดการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอน แทนการที่เราจะขับรถไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ก็หันมาเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือพายเรือ เพื่อสัมผัสชีวิตชุมชนที่ได้ไปเยี่ยมเยียน ลองให้ชีวิตได้ศึกษาหาความรู้จากธรรมชาติและใช้ชีวิตให้ช้าลง กินอยู่เรียบง่าย ใช้ขยะให้น้อยชิ้นที่สุด อยากให้มองการท่องเที่ยวแบบนี้ที่เป็นความท้าทาย เป็นประสบการณ์ใหม่ๆ อาจจะลำบากเพิ่มขึ้น แต่จะได้ความสนุกมากขึ้นและให้ประโยชน์กับโลก
...