ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีในสถานศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของกลุ่มสถานศึกษาภาคใต้ ที่โรงแรมคริสตัล จังหวัดสงขลา ว่า พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 เขียนไว้ชัดเจนว่าให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดการศึกษาได้ใน 3 รูปแบบ คือ การจัดการศึกษาในระบบ การจัดการศึกษานอกระบบ และการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่งการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี สอศ.ได้จัดมาตั้งแต่ 2551 แล้ว แต่ตัวเลขผู้ที่เข้ามาเรียนในระบบทวิภาคีปัจจุบันยังต่ำอยู่ มีเพียง 15% เท่านั้น สอศ.จึงมาวิเคราะห์ดูว่า สาเหตุที่มีผู้มาเรียนน้อยเกิดจากอะไร ทำไมตัวเลขผู้มาเรียนในระบบทวิภาคียังน้อย

เลขาธิการ กอศ.กล่าวอีกว่า สาเหตุที่มีคนมาเรียนในระบบทวิภาคีตัวเลขยังน้อย อาจเกิดจากแนวคิดของผู้บริหาร ครูผู้สอน หัวหน้างานทวิภาคีของวิทยาลัยยังติดกับดัก ว่านักศึกษายังต้องเรียนอยู่ในวิทยาลัย ซึ่งเรื่องนี้เราต้องมาเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ดังนั้น วันนี้ตนจึงได้มาให้นโยบาย จุดประเด็นว่าเราต้องปรับแนวคิดใหม่ว่าการจัดการอาชีวศึกษาในอนาคต จะไม่จัดการศึกษาเฉพาะในวิทยาลัยเท่านั้น แต่เราต้องเดินไปหาสถานประกอบการ เพื่อให้มาจัดการศึกษาร่วมกัน และต้องยอมรับว่าสถานประกอบการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยก้าวหน้ากว่าอาชีวศึกษามาก ถ้าเรายังให้เด็กเรียนอยู่เฉพาะในวิทยาลัยเด็กก็จะไม่ทันยุคสมัยปัจจุบัน ไม่รู้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ดังนั้นระบบทวิภาคีจึงมีความสำคัญมาก ทุกวิทยาลัยจะต้องขยับตัวเลขให้สูงขึ้นและต้องเป็นทวิภาคีที่มีคุณภาพด้วย

“ผมจะไม่เน้นเรื่องปริมาณ ถ้าตัวเลขระบบทวิภาคีขยับสูงขึ้นแต่เด็กไม่มีคุณภาพจึงต้องทำคู่ขนานกันไป เพราะวิสัยทัศน์ของการอาชีวศึกษาคือต้องสร้างคนที่มีสมรรถนะสูง ดังนั้นวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศที่มีกว่า 800 แห่ง จะต้องเปิดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคีที่มีปริมาณและคุณภาพสูงขึ้นด้วย” ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุกล่าวและว่า การจัดการอาชีวศึกษามีความสำคัญ จึงต้องมีการพัฒนาให้ตรงตามความต้องการของภาคการผลิตและบริการ โดยหลักสูตรต้องมีความยืดหยุ่น ง่ายต่อการปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนต้องเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการการเรียนด้วยการปฏิบัติจริง เพื่อให้การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีของวิทยาลัยให้เกิดผลสัมฤทธิ์แก่ผู้เรียน และตรงตามเป้าหมายของหลักสูตร.

...