ผลงาน "วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล" นักวิจัยเคมีอินทรีย์ ผู้ค้นพบสารต้นแบบของยาจากทรัพยากรราไทย จาก ม.สงขลานครินทร์ คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2566 เข้ารับพระราชทานรางวัลจาก กรมสมเด็จพระเทพฯ 

 

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 66 มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแถลงข่าว เปิดตัวผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 41 ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศ. ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ขึ้นกล่าวแสดงความยินดีและมอบโล่ให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัล โดยมี ศ. ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และผู้ที่ได้รับรางวัลเข้าร่วมงานแถลงข่าว ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

 

ศ. ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าวว่า การเปลี่ยนประเทศไทยจากการเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีมาเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมเช่นเดียวกับประเทศชั้นนำของโลก จำเป็นต้องศึกษาแนวโน้มของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงเวลานั้นๆ เช่น จาก MIT Technology Review หรือ Breakthrough Technologies 2023 ที่กำลังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ CRISPR ในการปรับแก้ไขยีนเพื่อลดระดับคอเลสเตอรอล, การใช้ AI วาดรูปจากคำสั่งสั้นๆ, การผลิตอวัยวะปลูกถ่ายขึ้นมาใช้ ในมนุษย์ (Organs on Demand), การเข้าสู่ยุคของ Electric Vehicle (EV), การกักเก็บพลังงานในรูปแบตเตอรี่ และการใช้เทคโนโลยีหาลำดับเบสดีเอ็นเอของมนุษย์ยุคเก่าก่อน เป็นต้น โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์และการจดสิทธิบัตรนั้น ประเทศในแถบเอเชียโดยเฉพาะจีนกำลังเป็นผู้นำของโลก ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีสำหรับประเทศไทยในการที่จะได้เดินไปในทิศทางนั้นด้วย

...

 

"สำหรับในประเทศไทยการที่จะยกระดับให้ก้าวไปสู่การพัฒนาในทิศทางดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยด้านต่างๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัย เพื่อเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยชั้นแนวหน้าให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ของประเทศไทย ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน และเป็นพลังขับเคลื่อนที่จะช่วยปลดล็อกประเทศให้หลุดจากสภาวะ 'กับดักรายได้ปานกลาง' และก้าวไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว"

 

สำหรับในปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศ. ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล สังกัดสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ "ผู้ค้นพบผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากทรัพยากรราไทยที่เป็นสารต้นแบบในการพัฒนาเป็นยา" ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ ดีเด่น ประจำปี 2566 รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท

 

ทั้งนี้ ศ. ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล เป็นผู้มีผลงานวิจัยมากกว่า 179 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มากกว่า 105 เรื่อง เป็นผลงานวิจัยแบบสหสาขาวิชาการด้านเมทาบอไลท์จากราเอนโดไฟท์ ราทะเล และราดิน โดยมีเป้าหมายเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่เป็นโครงสร้างต้นแบบในการพัฒนาเป็นยา ทำให้ได้คลังผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและฤทธิ์ทางชีวภาพจำนวนมากกว่า 1,100 สาร และได้ค้นพบสารสำคัญที่เป็นสารต้นแบบในระดับห้องปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าหรือเทียบเท่ายามาตรฐาน และไม่แสดงความพิษต่อเซลล์ปกติและเซลล์ทดสอบ อาทิ สารลดไขมันในเลือด สารยับยั้งโปรตีนช่องทางผ่านคลอไรด์ที่เกี่ยวข้องกับโรคหอบหืดและโรคท้องร่วง สารต้านแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลลินและสารต้านมะเร็งเต้านม การศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของสารต้นแบบ in vitro, ex vivo และ in vivo ที่พบว่าสารต้นแบบลดไขมันในเลือดและยับยั้งโปรตีนช่องทางผ่านคลอไรด์ สามารถพัฒนาเป็นยาใหม่ที่มีศักยภาพ

นอกจากนี้ได้วิธีการสังเคราะห์สารต้นแบบเหล่านี้ในปริมาณมาก และกระบวนการเพาะเลี้ยงราแหล่งใหม่ ที่ผลิตยาลดไขมันโลวาสแตตินที่ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์ทางการค้า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการค้นหาโปรตีนเป้าหมายของสารต้นแบบลดไขมันในเลือด และยับยั้งโปรตีนช่องทางผ่านคลอไรด์ด้วยเทคนิคโปรตีโอมิกส์ จึงเป็นที่ยอมรับว่าศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ มีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำกลุ่มวิจัยแถวหน้าของประเทศด้านเมทาบอไลท์จากราและฤทธิ์ทางชีวภาพ ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในการค้นหายาในประเทศไทย

...

 

สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2566 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่ 

1. รศ.ดร. ประสพชัย พัฒน์โรจนโสภณ สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้คิดค้นและพัฒนางานวิจัย "การพัฒนาระบบนำส่งยาแบบยึดติดเยื่อเมือก เพื่อการนำส่งยาแบบเฉพาะที่ และการพัฒนานวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์สำหรับการนำส่งยา"

2. รศ.ดร. ศุภฤกษ์ ประเสริฐธรรม ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คิดค้นและพัฒนางานวิจัย "วิศวกรรมการเร่งปฏิกิริยาเชิงคำนวณเพื่อการคัดกรองตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธุ์และสนับสนุนการวิจัยของนักวิจัยใหม่ในภาคการศึกษาขั้นสูงและอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก"

3. รศ.ดร. ชินธันย์ อารีประเสริฐ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ผู้คิดค้นและพัฒนางานวิจัย "การแปรรูปชีวมวลและของเสียประเภทต่างๆ ให้เป็นพลังงานหรือผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม"

...