เครดิตภาพจาก กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร
โครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร หนึ่งในการขับเคลื่อนสำคัญของหน่วยงานด้านการเกษตรของไทย ในการนำองค์ความรู้ และเทคโนโลยีถ่ายทอดสู่เกษตรกร เพื่อใช้ประโยชน์จากแหนแดงในด้านการเกษตร ประมง และปศุสัตว์
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ที่ห้องประชุมชั้น 5 อาคาร 1 กรมส่งเสริมการเกษตร นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร, นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนางสาวศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ร่วมแถลงข่าวกิจกรรมสร้างการรับรู้การดำเนินโครงการวิจัยการเกษตร "ขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร"
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงและผันผวน กรมส่งเสริมการเกษตร จึงมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ปรับปรุงความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสม ใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน (ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ) และใช้พืชปุ๋ยสด มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้มีการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมสนับสนุนให้ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) เป็นต้นแบบและกลไกในการขยายผลการปรับประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการจัดการดินและปุ๋ยอย่างเหมาะสมสู่ชุมชน โดยเทคโนโลยีที่เกษตรกรสนใจใช้เพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยแพง คือ การผลิตและใช้แหนแดง
...
แหนแดง เป็นเฟิร์นลอยน้ำชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก เปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพ เนื่องจากมีกระบวนการตรึงไนโตรเจนของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง ทำให้แหนแดงมีประโยชน์ในด้านทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน โดยกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรใช้แหนแดง สายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) มีลักษณะเด่น คือ มีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว
กรมส่งเสริมการเกษตร จึงจัดทำข้อเสนอโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือ สวก. ประเภท RU : Research Utilization หรือด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจสามารถผลิต และใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการใช้แหนแดงจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ปรับปรุงโครงสร้างดินดีขึ้นในระยะยาว เป็นการช่วยดูแลฟื้นฟูทรัพยากรดิน สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาล
ดังนั้นเพื่อให้นโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการผลิตและใช้แหนแดง ผ่านโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร บรรลุผลสำเร็จ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงเปิดตัวโครงการฯ และจัดแถลงข่าวในวันนี้ (17 ก.ค. 66) เพื่อรับมอบเทคโนโลยี องค์ความรู้ การผลิตและใช้แหนแดงจากกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งต่อและใช้ขยายผลสู่เกษตรกรทั่วประเทศให้ได้รับประโยชน์จากการผลิตและใช้แหนแดงในด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และด้านอื่นๆ ต่อไป
...
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า จากการสำรวจข้อมูลการผลิตและใช้แหนแดงผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัด พบว่ามีการส่งเสริมการผลิตและใช้แหนแดงในพื้นที่ 743 อำเภอ ใน 73 จังหวัด โดย 96% ใช้ในนาข้าว อาหารสัตว์ ปุ๋ยพืชสด และใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุปลูกตามลำดับ ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร รับองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับแหนแดงโดยตรงจากนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตร และขยายผลสู่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร นำร่องในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี สมุทรสงคราม ระยอง กาฬสินธุ์ สุรินทร์ พังงา พัทลุง กำแพงเพชร และพะเยา ดำเนินการผ่าน ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่ได้รับรางวัลดีเด่นในการประกวด ศดปช. ระดับเขต หรือระดับจังหวัด ในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็น ศดปช.ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการขยายผลสู่ชุมชน
“ตามบทบาทภารกิจกรมส่งเสริมการเกษตร จะหยิบยกเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ผ่านการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานวิจัยทั้งจากกรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว หรือกรมพัฒนาที่ดิน ไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรอยู่แล้ว โดยปีนี้โครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวก. มีจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก.1 เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการขยายผลเทคโนโลยี การป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวของกล้วยหิน (banana blood disease) ในพื้นที่จังหวัดยะลา และโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร
...
โดยทั้ง 3 โครงการ มีนักวิจัยจากกรมวิชาการเกษตรร่วมเป็นที่ปรึกษาและเป็นนักวิจัย จึงเป็นความร่วมมือที่ทั้งสองกรมร่วมกันขับเคลื่อนงาน หรือส่งต่องานวิจัยให้ถึงมือเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้งานวิจัยได้จริงๆ งานในวันนี้จึงเป็นการเปิดตัวโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร หรือ โครงการแหนแดง ส่วนอีก 2 โครงการ จะจัดงานลักษณะนี้ในพื้นที่” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
...
ด้านนางจิราภา พิมพ์แสง ประธานศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ตำบลฆ้องชัยพัฒนา อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ใช้แหนแดงในนาข้าว และทำเกษตรผสมผสาน รวมทั้งใช้เป็นอาหารเลี้ยงไก่และสัตว์อื่นๆ ซึ่งการทำเกษตรแบบผสมผสาน และปลูกผักทำเป็นออร์แกนิกอยู่แล้ว ไม่มีการใช้สารเคมี ดังนั้นแหนแดงจึงตอบโจทย์ในการช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน ทำให้นาข้าวและพืชผักเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถลดต้นทุน และเพิ่มผลิตได้เป็นอย่างดี ถือว่าแหนแดงเป็นพืชมหัศจรรย์ และมีประโยชน์มากทั้งด้านการเกษตร และเลี้ยงสัตว์.