‘รมช.มนัญญา’ ปิดทางทำกิน ลอบนำเข้าทุเรียนต่างชาติ มาสวมสิทธิ์เป็นทุเรียน GAP ของสวนจากไทย ทำลายชื่อเสียงทุเรียนไทย สั่งถอนใบอนุญาตกับเอกชน- ล้ง ที่ทำผิดพร้อมพ่วงดำเนินคดีอาญา

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เรื่องดำเนินการระงับใบอนุญาตส่งออกทุเรียนบริษัทเอกชนที่ลักลอบนำเข้าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน และล้งที่ร่วมกระทำผิด พร้อมดำเนินคดีอาญากับกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายที่ได้ให้ไว้กับกรมวิชาการเกษตรมาต่อเนื่องที่ต้องเข้มข้นกับการเอาผิดบริษัทส่งออกและล้ง ที่มีพฤติกรรมลักลอบนำเข้าทุเรียนและสวมสิทธิ์ไทยส่งออก และกรณีพบว่าแปลงเกษตรกรที่ได้ใบรับรองแหล่งผลิตพืช (GAP) ร่วมกระทำผิดก็ต้องดำเนินการเช่นกัน

รมช.กระทรวงเกษตรฯ กล่าวต่อว่า เรื่องทุเรียนที่ลักลอบนำเข้าครั้งนี้เมื่อเกิดเรื่องได้เรียกอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และเจ้าหน้าที่ศุลกากรมาชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้น และขอให้สองหน่วยงานร่วมมือกันทำงาน และร่วมกันตรวจทุเรียนส่งออกอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ หากพบการกระทำผิดให้จับกุมและดำเนินคดีและอายัดสินค้า และรายงานให้ทราบทุกครั้ง

...

"เรื่องนี้ต้องขอให้ช่วยกันเพราะรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรฯ ได้พยายามช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนเพื่อรักษาการส่งออกทุเรียนไทย เช่น ในวิกฤติโควิด-19 ที่ประเทศคู่ค้าเช่นจีนให้ความเชื่อมั่นประเทศไทย จนทำให้มูลค่าการส่งออกทุเรียนสูงเป็นแสนล้านบาทต่อปี ต่อเนื่องแม้ในยามยากลำบาก ดังนั้นอย่าให้ใครมักง่ายทำลายตลาดทุเรียนไทย ซึ่งในเรื่องนี้กำชับตลอดว่าให้กวดขันทุกด่านให้เฝ้าระวัง และให้ดำเนินคดีหากพบผิดโดยไม่ต้องเกรงใจใครทั้งสิ้น” นางสาวมนัญญา กล่าว

รมช.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วนเป็นหูเป็นตาให้ภาครัฐอีกทางหนึ่งด้วย เพราะการลักลอบนำเข้าเพื่อมาวนส่งออกสวมชื่อทะเบียนสวนไทยมีมาต่อเนื่อง ดังนั้นขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาชื่อเสียงทุเรียนไทย อันเป็นเศรษฐกิจของประเทศ ต้องร่วมกันป้องกันไม่ปล่อยให้คนกลุ่มเดียวทำลายชื่อเสียงทุเรียนของไทย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้สั่งฟ้องอาญา บริษัทผู้ส่งออกพร้อมสั่งระงับใบอนุญาตล้ง และระงับใบอนุญาตบริษัทผู้ส่งออก กรณีเหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2566 กรมศุลกากรจับกุมทุเรียนลักลอบนำเข้าจากชายแดน ภายหลังตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ ในวันที่ 29 มิ.ย. 66 ได้มอบอำนาจให้หัวหน้าด่านตรวจพืชนครพนม ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนครพนม จ.นครพนม ให้ดำเนินคดีบริษัทผู้ส่งออก ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้รับรองสุขอนามัยพืช (ส่งออกทุเรียน) ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

พร้อมกับออกคำสั่งกรมวิชาการเกษตรระงับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งผลทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักร, ทะเบียน DU (ระงับบริษัทผู้ส่งออกที่กระทำความผิด) และระงับหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช, ทะเบียน DOA (ระงับล้งที่กระทำความผิด) พร้อมกำชับให้ด่านตรวจพืชทุกด่าน ที่ทำหน้าที่ออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (พ.ก.7) เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบใบรับรองแหล่งผลิตพืช (GAP) ให้ถูกต้อง

หากตรวจสอบพบว่าผู้ส่งออก หรือ โรงคัดบรรจุ (ล้ง) มีเจตนาแจ้งหรือให้ข้อมูลกับทางราชการในการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (พ.ก. 7) อันเป็นเท็จ ให้ทุกด่านตรวจพืช ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและรอบคอบ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้แนะนำวิธีการรับรองการใช้ GAP เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ไว้แล้ว.