กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แนะประชาชนนอกจากเตรียมตัวรับน้ำท่วมช่วงหน้าฝน เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ เราต้องเตรียมตัวเก็บเกี่ยวน้ำฝนเพื่อไว้ใช้หน้าแล้งด้วย ซึ่งมีหลายวิธีตั้งแต่รองจากหลังคาเก็บใส่ตุ่ม ไปจนถึงขุดบ่อเติมน้ำใต้ดิน

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนเป็นช่วงฤดูกาลที่เกษตรกรเพาะปลูก ขณะเดียวกันหากปริมาณน้ำฝนมากเกินไป ก็จำเป็นต้องเร่งระบายออกจากพื้นที่การเกษตร เพราะอาจส่งผลให้พืชผลเสียหาย กลายเป็นน้ำรอการระบายไปตามคูคลอง ที่เมื่อมองแล้วอาจเป็นการปล่อยน้ำทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะน้ำฝนในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ไม่มีมลพิษทางอากาศจากไอเสีย ที่ส่งผลให้เกิดฝนกรด จนไม่อาจนำมาใช้เพื่ออุปโภคบริโภคได้ ถือเป็นน้ำจากแหล่งธรรมชาติที่ไม่มีต้นทุนในการใช้เลย โดยเฉพาะในปีนี้ที่ประเทศไทยกำลังเจอกับภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน การเก็บน้ำฝนจึงเป็นอีกเรื่องที่เราควรคำนึง และต้องมีวิธีการจัดเก็บที่ดี  

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอแนวคิด การเก็บเกี่ยวน้ำฝน เป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่ออนุรักษ์น้ำเป็นหลัก โดยอาศัยหลักการง่ายๆ คือ การรวบรวมและกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ประโยชน์ต่างๆ โดยสามารถเก็บไว้ในภาชนะ เช่น ถัง โอ่ง หรือเก็บไว้บนผิวดินหรือใต้ดิน ซึ่งมีหลายวิธีด้วยกัน ทั้งแบบที่ทำได้ง่ายๆ จนถึงแบบที่ต้องลงทุนออกแรง โดยสามารถนำแต่ละวิธีไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานที่นั้นๆ หรือตามความต้องการใช้ประโยชน์จากแหล่งกักเก็บน้ำฝนที่สร้างขึ้น เริ่มจากวิธีง่ายๆ ได้แก่ 

...

1. การเก็บเกี่ยวน้ำฝนจากหลังคา สำหรับบ้านเรือนที่พักอาศัย มักจะทำหลังคาพร้อมติดตั้งรางน้ำฝน โดยเราสามารถต่อเติมเพื่อสร้างเป็นแหล่งกักเก็บน้ำฝนได้ โดยการใช้รางน้ำต่อกับชายหลังคา จากนั้นต่อท่อจากรางน้ำไปยังภาชนะรองรับน้ำฝน หรือหากบ้านไหนปลูกพืชผักและมีพื้นที่กลางแจ้ง ก็สามารถวางภาชนะไว้กลางแจ้งได้หลายใบแล้วต่อท่อจากด้านข้างก้นภาชนะเหล่านั้น ให้เชื่อมเป็นท่อเดียวไปที่แปลงปลูกได้เลย เพียงเท่านี้ก็จะได้น้ำฝนไว้ใช้งานในฤดูแล้ง

2. กักเก็บน้ำแบบสระ สำหรับผู้ที่พื้นที่ดินบริเวณกว้าง เช่น สวนผลไม้ หรือไร่นาสวนผสม โดยขุดสระให้มีขนาดพื้นที่อย่างน้อย 1 ไร่ ซึ่งควรเลือกขุดที่บริเวณที่ลุ่มต่ำและเป็นดินดาน โดยให้มีความลึกราว 4-5 เมตร และมีความลาดเอียง 45 องศา ส่วนบริเวณรอบสระให้ปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยยึดตลิ่ง วิธีนี้นอกจากจะช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้แล้ว ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่สามารถจับเป็นอาหาร หรือขายหารายได้เสริม

3. เติมน้ำใต้ดินแบบหลังคา สำหรับบ้านที่มีบ่อบาดาลเก่าๆ ก็สามารถเพิ่มฟังก์ชัน โดยการเปลี่ยนจุดต่อท่อเป็นด้านข้าง ใกล้กับปากภาชนะรองรับ แล้วเชื่อมต่อไปยังถังกรองที่ใส่ทรายกรวด หินกรวด หรือถ่านไบโอชาร์ ซึ่งถังกรองควรอยู่ต่ำกว่าภาชนะรองรับประมาณครึ่งหนึ่ง แล้วต่อท่อที่ด้านข้างใกล้ก้นถังกรองกับบ่อวงคอนกรีตที่เก็บน้ำบาดาลไว้ หรือหากใครมีพื้นที่กว้าง ก็สามารถ “เติมน้ำใต้ดินแบบสระ” ได้ โดยขุดบ่อหรือสระเล็กๆ ใกล้รางน้ำที่ชายหลังคา จากนั้นใส่หินกรวด ทรายกรวด เพื่อเป็นชั้นกรองก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่บ่อวงคอนกรีตที่เก็บน้ำบาดาลก็ได้เช่นกัน

...

การเก็บเกี่ยวและกักเก็บน้ำฝนไม่เพียงแค่ช่วยให้มีน้ำฝนไว้ใช้งานในหน้าแล้งเท่านั้น แต่ยังช่วยบรรเทาปัญหาได้อีกหลายด้าน เช่น ปัญหาน้ำท่วม-น้ำไหลหลากในฤดูฝน เนื่องจากแหล่งกักเก็บน้ำจะช่วยรองรับปริมาณน้ำฝนบางส่วนที่ตกลงสู่ผิวดิน ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลอย่างรวดเร็วของแม่น้ำในสภาวะวิกฤติลดลง และช่วยลดปริมาณน้ำท่วมขังได้ ลดปัญหาเกาะความร้อนในเมือง ลดปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ ลดปัญหาปริมาณน้ำในแหล่งน้ำจืดลดลง และลดปัญหาชั้นน้ำบาดาลทรุดโทรม เป็นต้น.

...

ที่มา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
เฟซบุ๊กเพจ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
คู่มือเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น โดย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3 วิธีกักเก็บน้ำฝนอย่างยั่งยืน รักบ้านเกิด.คอม
ประโยชน์ของการเติมน้ำใต้ดิน สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 9 ระยอง