เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า (ECST) โต้ WHO FCTC หลังยกย่องไทยมีความก้าวหน้าและเป็นประเทศชั้นนำในการควบคุมยาสูบ ชี้เข้มงวดกับบุหรี่มวน แต่ปล่อยบุหรี่ปลอม ยาเส้น เติบโตก้าวกระโดด แถมการแบนบุหรี่ไฟฟ้าทำตลาดบุหรี่ไฟฟ้าใต้ดินพุ่ง บังคับใช้ไม่ได้จริง ป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ได้ ชี้ที่ผ่านมาแม้ไทยจะใช้มาตรการควบคุมบุหรี่เข้มงวดตามแนวทาง WHO FCTC มากกว่าหลายประเทศทั่วโลก แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่กลับไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะรัฐปิดกั้นผู้สูบบุหรี่จากทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่า

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 66 จากกรณีที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข เครือข่ายแพทย์ และหัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ได้ร่วมประชุมและแถลงเกี่ยวกับการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) พร้อมขอให้คงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในฐานะมาตรการที่ดีที่สุดสำหรับประเทศรายได้ปานกลางอย่างไทย และอ้างว่าประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่เปลี่ยนจากห้ามมาอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้นั้น

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) และเพจ "บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร" กล่าวว่า เราผิดหวังกับคำแถลงของกระทรวงสาธารณสุข และตัวแทนของ WHO FCTC เพราะมีหลายประเด็นที่ไม่ถูกต้องและไม่ยอมรับความเป็นจริง อย่างแรกคือการอ้างว่าหากประเทศไทยนำบุหรี่ไฟฟ้ามาควบคุมให้ถูกกฎหมาย จะทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่เคยแบนบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเปลี่ยนกลับมาอนุญาต ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่

"ประเทศนิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่เคยแบนบุหรี่ไฟฟ้าแล้วภายหลังอนุญาตให้ขายได้อย่างถูกกฎหมาย โดยนิวซีแลนด์เคยห้ามการขายบุหรี่ไฟฟ้าจนถึงปี 2017 และภายหลังได้อนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ซึ่งการตัดสินใจนี้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบไม่ว่าจะเป็นเหตุผลด้านการสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ การป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน บุหรี่ไฟฟ้าเถื่อน และที่สำคัญคือผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยรัฐบาลนิวซีแลนด์เองก็ออกมาสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่มวนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน เนื่องจากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน ซึ่งการเปลี่ยนมาควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายของนิวซีแลนด์นั้นประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดอัตราการสูบบุหรี่ โดยอัตราของผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใหญ่ลดลงจาก 16% เหลือเพียง 8% ภายในระยะเวลา 10 ปี"

...

ด้านนายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายฯ อีกราย กล่าวว่า หากเราทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายได้ รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่าง สุขภาพ หรือเงิน เพราะสามารถได้ทั้ง 2 อย่าง เนื่องจากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุชัดเจนว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน และได้รับการยอมรับให้ถูกกฎหมายและเก็บภาษีในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ หรือแคนาดาเองก็ได้ออกมาสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่มวนกันทั้งนั้น เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น

นายอาสา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ออกกฎหมายที่เข้มงวดและทำการรณรงค์มานับไม่ถ้วน นับได้ว่าเข้มงวดอันดับต้นๆ ของโลก แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่ในไทยไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะประเทศไทยทำทุกอย่างยกเว้นการยอมรับความจริงว่า 70-80 ประเทศทั่วโลกเขามอบทางเลือกให้กับผู้สูบบุหรี่ในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่าแล้ว แต่ไทยกลับยังไม่ยอมรับแนวทางการลดอันตรายจากยาสูบ

"ปลายปีนี้ก็จะมีการประชุมประเทศภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกครั้งที่ 10 นั้น หรือ FCTC COP10 ซึ่งก็จะมีการกล่าวถึงนโยบายและแนวทางเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ในฐานะประชาชนชาวไทยและผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งมีมากกว่า 700,000-1,000,000 คน เครือข่ายฯ มองว่าผู้แทนประเทศไทยไม่รับฟังเสียงของประชาชน และพยายามสร้างภาพให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่น่ากลัวโดยไม่คำนึงถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และแนวทางของ สธ.ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ดังนั้นควรส่งตัวแทนจากหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องเช่น กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ ไปเข้าร่วมการประชุม และมีจุดยืนที่เป็นกลางและสะท้อนความเห็นของรายงานคณะกรรมาธิการสาธาณสุขก่อนหน้านี้ว่าการแบนไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง และไม่สามารถลดการสูบบุหรี่ได้ตามเป้าหมาย ไม่ใช่ดื้อแพ่งให้แบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อ แต่เห็นคนใช้กันให้เกลื่อนเมือง และยังสวนทางกับนโยบายของพรรคการเมืองหลายพรรครวมทั้งพรรคก้าวไกลที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นเราเชื่อว่านโยบายการแบนบุหรี่ไฟฟ้าต้องถูกแก้ไขเช่นเดียวกับ เรื่องสุราก้าวหน้า โดยนำมาควบคุมให้เหมาะสม ปกป้องเด็กเยาวชน ไม่ใช่ปล่อยเสรีอย่างที่เขาหลอกลวง" นายอาสา กล่าว.