เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.66 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมศูนย์ซ่อมบำรุงฯศรีเอี่ยม และเข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ในช่วงสถานีศรีอุดม (YL16) ถึง สถานีลาดพร้าว (YL01) มีนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้า ขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รฟม. และนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ร่วมให้การต้อนรับ โดยในวันเดียวกัน ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป ขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้จอดรับ-ส่งประชาชนเพิ่มเติมที่สถานีลาดพร้าว เป็นอันครบถ้วนทั้ง 23 สถานีตลอดสาย
นายภคพงศ์เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว- สำโรง เป็นโครงการที่ ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 29 มี.ค.59 ให้ รฟม.ดำเนินการ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.60 รฟม.ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน และได้เริ่มงานก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.61 ทั้งนี้ รฟม.ตั้งเป้าหมายว่ารถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2566 นี้
ด้านนายคีรีกล่าวว่า บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด EBM เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งฯ และ บมจ.ราช กรุ๊ป มีความตั้งใจในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า มหานคร สายสีเหลือง ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลสายแรกของประเทศไทย ให้เป็นทางเลือกที่สะดวกสบาย ปลอดภัย และรวดเร็วในการเดินทาง ทั้งนี้ บริษัทได้เลือกใช้ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลที่มีความทันสมัย และสวยงามที่สุด โดยมี บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์ฯ เป็นผู้ก่อสร้างงานโยธา และบริษัท Alstom เป็นผู้รับผิดชอบงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล
...
ประธานกรรมการ บริษัท EBM กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรีตลอดเส้นทางจำนวน 23 สถานี ไปจนถึงวันที่ 2 ก.ค.นี้ และตั้งเป้าเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. เป็นต้นไป คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 100,000-200,000 เที่ยว/คน/วัน ขณะเดียวกัน มีความพร้อมที่จะหารือร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต่อขยายเส้นทางสายสีเหลืองไปเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีรัชโยธิน เพื่อประโยชน์กับประชาชนที่จะได้รับความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น ส่วนโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี คาดว่า จะเริ่มเปิดเดินรถได้ปลายปีนี้โดยจะเร่งการก่อสร้างอย่างเต็มที่
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอสซี กล่าวว่า วันที่ 26 มิ.ย.นี้ จะมีการเดินรถเหมือนให้บริการจริงทุกประการ โดยปรับความถี่ ช่วงเวลาเร่งด่วน 5 นาทีต่อขบวน และช่วงนอก เวลาเร่งด่วน 10 นาทีต่อขบวน เริ่มวิ่งให้บริการเวลา 06.00-24.00 น. และบริษัทมีความพร้อมที่จะเริ่มเก็บค่าโดยสารเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 3 ก.ค.2566 เป็นต้นไป จัดเก็บอัตรา 15-45 บาท โดยเสนอไปที่ รฟม.เรียบร้อยแล้ว.