“หมอสันต์เขียนจดหมายถึงรัฐบาลใหม่”...ประเด็นที่ผมจะร้องก็มีประเด็นเดียวซ้ำซากจนเป็นแผ่นเสียงตกร่องไปแล้ว นั่นก็คือ “ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของชาติ” กำลังไปผิดทางตรงที่เรามุ่งไปสู่การรักษาพยาบาลที่ใช้ยาและเทคโนโลยีซึ่งต้องซื้อฝรั่งเขามา

และ...มันก็ใช่ว่าจะได้ผลกับ “โรคสมัยใหม่” ที่เราเป็น เราต้องเลิกเดินในทิศทางนั้น กลับหลังหันมาเดินในทิศทางการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยการสนับสนุนให้ประชาชนมีศักยภาพในการสร้างเสริมสุขภาพของตัวเองได้ จัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพด้วยตัวเองได้

หากเราไม่รีบลงมือแก้เสียเดี๋ยวนี้ ระบบปัจจุบันนี้จะพาเราไปสู่ความหายนะ

ประเด็นย่อยสำคัญๆ หนึ่ง...เราจะต้องย้ายโฟกัสจากดูแลสุขภาพที่เอาโรงพยาบาลเป็นฐานไปสู่การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เอาศักยภาพที่จะดูแลตนเองของประชาชนที่บ้านเป็นฐาน

สอง...จะต้องย้ายโฟกัสจากการแพทย์แบบเอาโรคเป็นศูนย์กลางโดยอิงหลักฐานมาเป็นการแพทย์แบบองค์รวม โดยอิงศักยภาพในการดูแลตัวเองของประชาชน... “การแพทย์แบบอิงหลักฐานนั้น แท้จริงแล้วมันเป็นการแพทย์แบบอิงการเบิกจ่าย คืออะไรที่เบิกได้ แพทย์ก็จะทำ”

...

สาม... จำเป็นต้องรีบใช้ประโยชน์จาก รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ที่เราตั้งขึ้นมาแล้วให้เต็มที่ มันไม่สำคัญดอกว่าจะให้ รพ.สต.อยู่กับกระทรวง สธ.หรืออยู่กับรัฐบาลท้องถิ่น เพราะไม่ว่าจะอยู่กับใคร รพ.สต.จะเดินหน้าได้ก็ต้องได้การสนับสนุนจริงจังจาก “รัฐบาลกลาง” อยู่ดี

สี่...ระบบการสอนสุขศึกษาและพลศึกษาในโรงเรียนจะต้องเปลี่ยน หากยังเปลี่ยนเนื้อหาหรือเปลี่ยนหนังสืออ่านประกอบไม่ได้ก็ยังไม่เป็นไร แต่ขอให้เปลี่ยนการจัดประสบการณ์เรียนรู้และสร้างทักษะในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด

สรุปสั้นๆได้คือ...เลิกเอาโรงพยาบาลเป็นฐาน เอาตัวประชาชนที่บ้านเป็นฐานในการสร้างเสริมสุขภาพแทน...เปลี่ยนวิธีดูแลสุขภาพจากการเอาโรคเป็นศูนย์กลางเป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม...ใช้ รพ.สต.จริงจังและเปลี่ยนวิธีผลิตแพทย์ให้ไปทำงาน รพ.สต.ได้...ปรับสุขศึกษาพลศึกษาในโรงเรียนเน้นสร้างทักษะสุขภาพ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

ข้างต้นนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ก พร้อมขอบพระคุณอาจารย์หมอเป็นอย่างสูง

“คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก...คับทั้งที่คับทั้งใจ...แล้วหมอกับคนไข้จะเป็นอย่างไร” ประโยคข้างต้นมาจาก คุณหมอเมธี วงศ์ศิริสุวรรณ พูดแทนหมู่บุคลากรการแพทย์ รวมทั้งพยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร

ถึงแม้ว่าคุณหมอจะไม่ใช่ตัวแทนของแพทย์ทั้งประเทศ แต่ก็เป็นหนึ่งในแพทย์ที่ผ่านระบบการใช้ทุนมายาวนานเกินกว่า 9 ปี ตามสัญญา อีกทั้งยังเป็นแพทย์ในสาขาที่น่าจะได้ชื่อว่างานหนักที่สุด เคยต้องผ่าตัดสมองผู้ป่วยถึงวันละ 9 รายติดต่อกัน เคยต้องอดนอนหรือหลับนกติดต่อกัน 3-4 วัน

...เคยต้องผ่าตัดคนไข้ทั้งๆที่ตัวเองมีไข้มากกว่า 40 องศา

อีกทั้งยังเป็นคนที่ญาติผู้ป่วยมาฝากผีฝากไข้ โดยหารู้ไม่ว่าหมอคนนี้ต้องผ่าสมองคนไข้ทั้งที่ตัวเองติดเชื้อในกระแสเลือดอยู่...เคยต้องไปขอโทษญาติคนไข้ทั้งๆที่ไม่เข้าใจว่าตนเองทำผิดอะไร

แต่ต้องทำเพราะผู้ใหญ่ต้องการให้เรื่องจบเร็วๆที่สุด

ประเด็นแรก...ช่วงแรกของแพทย์ใช้ทุนคือช่วงที่ทรมานที่สุดในชีวิตการเป็นแพทย์ ระบบสาธารณสุขของบ้านเรา ส่งแพทย์ที่มีความรู้ทางปฏิบัติน้อยที่สุด ประสบการณ์น้อยที่สุด ไปรับมือผู้ป่วยในที่ที่มีความพร้อมของระบบน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ห้องฉุกเฉิน” หรือ “รพ.ชุมชน”

...

ซึ่งแท้จริงแล้วต้องการแพทย์ที่มีประสบการณ์มากที่สุดในการรับมือสารพัดความต้องการของผู้ป่วยและญาติ เมื่อรับมือไม่ไหวก็เกิดปรากฏการณ์แห่ศพประท้วง เรียกร้องขอเงินหรือประจานลงโซเชียลมีเดีย

ทั้งๆที่แพทย์พยาบาลล้วนทำงานกันเกินมนุษย์เพื่อตอบสนองนโยบายประชานิยมของนักการเมืองที่ต้องการคะแนนเสียงตุนไว้ตลอดชาติ

ประเด็นถัดมา...ระบบกำหนดให้แพทย์พยาบาลเหลืออยู่ในระบบมากขึ้น เพื่อหวังให้มีคนช่วยงานบ้านมากๆ พร้อมกับตั้งความหวังว่าลูก (ทาส) เหล่านี้จะทำงานบ้านอย่างเต็มใจ ยิ้มแย้ม ต้อนรับแขกทุกคนที่มาเยือนถึงเรือนบ้านด้วยหัวใจมนุษย์...นึกภาพไม่ออกว่าระบบมันจะดีขึ้นได้อย่างไร

จำนวนแพทย์พยาบาลที่มากขึ้นโดยไม่สนใจว่าคนเหล่านี้จะมีกะจิตกะใจที่จะทำงานถวายหัวให้องค์กร? ใช้แรงงานโดยไม่สนใจที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของกรรมกรชุดขาวเหล่านี้

ประเด็นสุดท้าย ที่มีคนถามกันมากมายว่า “เหตุใดจึงมีเฉพาะบุคลากรสายสาธารณสุขเท่านั้นที่ต้องถูกบังคับให้ใช้ทุน?” ทำไมนักศึกษาในสาขาอื่นๆที่รัฐต้องจัดงบอุดหนุนให้กับทุกคณะในมหาวิทยาลัยของรัฐ ถึงไม่ต้องมีพันธะเช่นนี้

...จำได้ว่าเมื่อก่อนรัฐประหาร เกิดปัญหาขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่สามารถหาตำแหน่ง (ทุน) ให้กับแพทย์ที่ต้องการมาเรียนต่อเฉพาะทาง (แพทย์ประจำบ้าน) เหตุเพราะต้องจัดสรรตำแหน่งให้กับแพทย์จบใหม่ซึ่งกำลังจะถึงปีละ 4,000 คนในไม่ช้านี้ ในขณะที่ ก.พ.เองก็ฮึ่มๆ มาตลอดว่าไม่มีตำแหน่งให้อีกแล้ว

...

รมต.สธ.ในขณะนั้นจึงได้เสนอแนวคิดให้ยกเลิกการใช้ทุน (มิใช่แพทยสภาเสนออย่างที่มีคนปลุกปั่นกัน) เหตุเพราะเห็นความจำเป็นในการจัดสรรตำแหน่งเพื่อให้โรงพยาบาลในต่างจังหวัดสามารถบรรจุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่

อีกเหตุผลที่สำคัญคือ ถึงแม้ไม่บังคับให้แพทย์ใช้ทุน แต่แพทย์จบใหม่เหล่านี้ก็ไม่สามารถไปทำงานในภาคเอกชนได้ เพราะคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ต้องการ (ยกเว้นไปเปิดคลินิกเสริมสวยเอง ซึ่งเงินห้าล้านก็ไม่แน่ว่าจะเอาอยู่) นอกจากนี้แพทยสภาในขณะนั้นยังได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับฝ่ายการเมืองด้วยการออกกฎว่า...

แพทย์ที่ต้องการศึกษาต่อเฉพาะทางต้องผ่านการทำงานให้ รพ.รัฐไม่น้อยกว่า 1–3 ปี

ด้วยวิธีนี้ รพ.ของรัฐในต่างจังหวัดก็จะสามารถได้แพทย์ไปทำงานพร้อมกับหาประสบการณ์ไปด้วย (ระยะหลังจะมีระบบใช้ทุนโดยทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเต็มใจร่วมหอลงโรงกัน)...

หากขึ้นค่าปรับเป็นหลักห้าล้านบาท เชื่อว่าอาจมีกรณีฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายบริหารต้องเตรียมคำตอบไว้ดีๆ เพราะคนเป็นพ่อเป็นแม่คงไม่ยอมให้ลูกตนเองติดคุกง่ายๆในระบบที่เต็มไปด้วยความไม่พร้อมเช่นนี้...ขอย้ำว่า ไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าปรับกรณีเบี้ยวทุน

แต่ปัญหาที่หมักหมมในระบบสาธารณสุขทุกวันนี้ควรจะได้รับการแก้ไขด้วยการผ่าตัดใหญ่ในหลายๆมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...เรื่อง “ภาระงาน” การสุ่มเสี่ยงต่อการฟ้องร้อง

แนวคิดของนักกฎหมายที่มีมุมมองว่า “การช่วยชีวิตคนเป็นสินค้าหรือบริการที่มุ่งหากำไรเอารัดเอาเปรียบ” ล้วนแต่ทำให้นักโทษชุดขาวเหล่านี้ต่างมองหาโอกาสในการแหกคุก ไม่ว่าคุกนั้นจะแน่นหนาสักเพียงไร แทนที่จะสร้างคุกกักกันดั่งป้อมปราการ ทำไมผู้บริหารที่ผ่านมาถึงไม่มีใครคิดจะเปลี่ยนคุกเป็นคอนโดสุดหรู ที่ทั้งแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วย ต่างแย่งกันเข้ามาอยู่อาศัย...

...

คำถามสำคัญทิ้งท้ายจึงมีว่า เมื่อไรเราจะมี “รัฐบุรุษ” ในระบบสาธารณสุข?