เมื่อวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวัน “มหามงคล” สำหรับประชาชนชาวไทยถึง 2 ประการ เพราะเป็นทั้ง “วันวิสาขบูชา” วันสำคัญยิ่งของพุทธศาสนา และ “วันเฉลิมพระชนมพรรษา” สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินีควบคู่กันนั่นเอง...พี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร ทางซีกตะวันออกไปจรดถึงชาวสมุทรปราการก็ได้รับของขวัญชิ้นใหญ่ ชิ้นหนึ่งที่สมควรแก่การบันทึกไว้

นั่นก็คือการออกทดลองเดินรถให้ประชาชนนั่งฟรีของ “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” ซึ่งมีฉายาที่เรียกกันมาล่วงหน้าอย่างติดปากว่า “น้องเก๊กฮวย” จาก สถานีหัวหมาก ใกล้สี่แยกถนนศรีนครินทร์ตัดถนนพัฒนาการ กทม. ไปสู่ สถานีสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งสิ้น 13 สถานี

เที่ยวแรกออกจากสถานีต้นทางปลายทางทั้ง 2 แห่งพร้อมกันเวลา 09.00 น. และเที่ยวสุดท้ายจะออกจากสถานีต้นทางปลายทางพร้อมกันเวลา 20.00 น.

ผมทราบข่าวและตัดสินใจเขียน “ต้อนรับ” ในทันที จาก “ไลน์” ของครอบครัวผมน่ะครับ เมื่อลูกๆ หลานๆ ซึ่งพักอยู่ใกล้ๆเส้นทาง ยกขบวนกันไปขึ้นนั่งโดยสารฟรีเป็นประเดิมแล้วโพสต์มาอวดปู่ย่า

พร้อมบรรยายใต้ภาพมาว่าออกจากสถานีหัวหมากต้นทาง เมื่อเวลา 09.22 น. ผู้คนมารอขึ้นแน่นมาก และเมื่อไประหว่างทางก็ยิ่งแน่นขึ้นอีก แสดงว่าพี่น้องประชาชนย่านนี้รู้ข่าวคราวต่างมารอขึ้นเอาฤกษ์เอาชัยหลายพันคนในภาคเช้า

“น้องเก๊กฮวย” วิ่งไปทั้งหมด 13 สถานี ได้แก่ หัวหมาก, กลันตัน, ศรีนุช, ศรีนครินทร์ 38, สวนหลวง ร.9, ศรีอุดม, ศรีเอี่ยม, ศรีลาซาล, ศรีแบริ่ง, ศรีด่าน, ศรีเทพา, ทิพวัล, และ สำโรง

รวมระยะทาง 17.8 กม. ใช้เวลา 34 นาที รวมทั้งเวลาหยุดรับส่งผู้โดยสารแต่ละสถานีด้วย

...

นอกจากผมจะได้รับ “ไลน์” จากหลานๆแล้ว ต่อมาก็ได้อ่านข่าวที่มีการแถลงอย่างเป็นทางการว่า “สายสีเหลือง” หรือ “น้องเก๊กฮวย” ออกวิ่งให้บริการฟรีตั้งแต่ 3 มิถุนายน ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน

จากนั้นจะมีการประเมินผลและจะมีการทดลองวิ่งต่อให้ครบทั้ง 23 สถานี โดยจะย้อนจาก สถานีหัวหมาก ไปสู่สถานี ศรีกรีฑา, แยกลำสาลี, บางกะปิ, ลาดพร้าว 101, มหาดไทย, ลาดพร้าว 83, ลาดพร้าว 71, โชคชัย 4, ภาวนา และสุดท้ายที่สถานีใหญ่ ลาดพร้าว รวมตลอดทั้งสาย 28.7 กิโลเมตร

ในการทดลองส่วนหลังนี้จะเริ่มขึ้นเมื่อใดโปรดติดตามกันต่อไป

ผมไม่แน่ใจว่าการเริ่มต้นก่อสร้างรถไฟฟ้าสาย “เก๊กฮวย” จะเริ่มขึ้นเมื่อใดจำได้คร่าวๆว่า น่าจะไม่ต่ำกว่า 4 ปีมาแล้ว

นับเป็น “วิบากกรรม” ของพี่น้องประชาชนที่อยู่อาศัยในถนนลาดพร้าวไปจนถึงถนนศรีนครินทร์จนเข้าสู่จังหวัดสมุทรปราการอย่างแสนสาหัส ที่ต้องเจอปัญหารถติดระหว่างก่อสร้าง

จากบ้านผมย่านบางกะปิเข้า ไทยรัฐ หรือจากไทยรัฐกลับบ้านต้องใช้เวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมงในช่วงเช้าเย็น จนผมต้องหนีไปใช้ถนน เกษตรนวมินทร์ อ้อมเข้าวิภาวดี ที่ระยะทางไกลกว่าแต่อยู่ในวิสัย 45 นาที หรือไม่เกินชั่วโมงเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกันในวันหยุดรถว่างผมก็หาโอกาสผ่านเข้าลาดพร้าวด้วยความคิดถึง ซึ่งก็พบว่าตึกแถวจำนวนมากถูกปิดตายกลายเป็นตึกร้างอย่างน่าเศร้าใจในระหว่างก่อสร้างไม่แน่ใจว่าจะฟื้นกลับมาได้หรือไม่?

อดนึกไม่ได้ว่าทำไมการเข้าสู่ความเจริญจะมีรถไฟฟ้าใช้กับเขาสักสายหนึ่ง นอกจากจะต้องลงทุนมหาศาลแล้ว ยังต้องสูญเสียต้นทุนดั้งเดิมไปอีกมากและประเมินค่ามิได้เช่นนี้หนอ

แต่ก็เอาเถอะเมื่อจำเป็นจะต้องเดินหน้าเพื่อไปสู่ความเจริญและแก้ปัญหาการจราจรก็ต้องยอม

ผมเองแม้จะยังไม่ได้ไปขึ้นกับลูกหลานแต่ก็เคยนั่งรถผ่านขณะที่มีการซ้อมเดินรถก่อนหน้านี้มาหลายครั้ง ยังจำภาพ “น้องเก๊กฮวย” ซึ่งเป็น โมโนเรล ผลิตจากจีน ขนาดเล็กกว่า BTS สามารถต่อตู้ได้เต็มที่ถึง 7 ตู้ แต่ธรรมดาจะวิ่ง 4 ตู้ แล่นผ่านศีรษะไปติดตา

แต่ละตู้บรรจุผู้โดยสาร 356 คน และเชื่อว่ารองรับผู้โดยสารได้ 15,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ตามที่เคยแถลงไว้

ขอต้อนรับ “น้องเก๊กฮวย” อีกครั้ง และขออวยพรให้ประสบความสำเร็จ ขอให้พี่น้องประชาชนมาใช้กันมากๆ และไม่ประสบ ภาวะขาดทุน เหมือนบางสายที่มีข่าวว่าทุกวันนี้ยังแย่อยู่เลย

เปิดใช้จากสถานีบางกะปิมาลาดพร้าว หรือแม้แต่จะไปสำโรงเมื่อไร ผมจะรีบไปขึ้นเป็นประเดิมเลยนะครับ.

“ซูม”