เมื่อวันที่ 29 พ.ค.66 น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทม.ร่วมมือสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานแพทย์พยาบาลฉุกเฉินต่างๆ เพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้ภายใน 8 นาที เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า สภาพเมืองหนาแน่นไม่เอื้อต่อการเข้าถึงผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน จึงแก้ปัญหาโดยการเพิ่มรถมอเตอร์แลนซ์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งมีอุปกรณ์การแพทย์เบื้องต้น และกล้องวิดีโอฉายภาพไปยังแพทย์ที่โรงพยาบาลต้นสังกัดตลอดการช่วยเหลือ ทำให้แพทย์สามารถแนะนำการรักษาได้ทันที ณ จุดเกิดเหตุ โดยไม่ต้องเสียเวลาขนส่งผู้ป่วยมายังโรงพยาบาล จากการนำร่องโครงการราชพิพัฒน์โมเดล พบว่ารถมอเตอร์แลนซ์สามารถเข้าถึงผู้ป่วยเฉลี่ย 4 นาที ช้าสุด 7 นาที เร็วสุด 3 นาที ขณะที่รถพยาบาลส่วนใหญ่เฉลี่ย 13 นาที จึงมีแผนขยายรถมอเตอร์แลนซ์ไปประจำทั้ง 50 เขตใน กทม. รวมถึงประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำมอเตอร์แลนซ์ไปประจำการ

สำหรับรถมอเตอร์แลนซ์ เป็นรถมอเตอร์ไซค์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยชีวิตโดยตรง เป็นพาหนะพาหน่วยฉุกเฉินไปถึงผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด หรือเรียกว่า รถฉุกเฉินไม่ลำเลียง ขณะที่รถพยาบาลทั่วไปเรียกว่า รถฉุกเฉินลำเลียง ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน โดยการทำงานของรถมอเตอร์แลนซ์ จะเชื่อมต่อกล้องวิดีโอไปยังห้องพยาบาลฉุกเฉินโดยอัตโนมัติเมื่อรถเริ่มทำงาน เมื่อไปถึงจุดเกิดเหตุทีมฉุกเฉินจะเห็นสภาพผู้ป่วยและเริ่มประเมินการรักษาได้ทันที เมื่อรถพยาบาลมาถึงภายหลังจะทราบราย ละเอียดผู้ป่วยเบื้องต้นได้ กรณีต้องส่งต่อโรงพยาบาล ทำให้การรักษาต่อเนื่องไม่ต้องประเมินอาการซ้ำ ลดเวลาในการรักษา ทั้งนี้ รถมอเตอร์แลนซ์แต่ละพื้นที่จะถูกกำกับการออกหน่วยโดยหน่วยฉุกเฉิน 1669 และ อยู่ระหว่างเพิ่มช่องทางการรับเหตุผ่านระบบแอป พลิเคชันของโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยไม่ทับซ้อนงานอาสากู้ชีพ ซึ่งจะเริ่มเห็นผลภายในเดือน มิ.ย.นี้.

...