เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า (ECST) โชว์ผลสำรวจอเมริกา-อังกฤษ ระบุไม่ทำให้เด็กสูบเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างสหรัฐฯ มีอัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนต่ำเหลือเพียง 2% ชี้การแบนแบบไทยยิ่งทำให้การป้องกันการเข้าถึงของเยาวชนไม่มีประสิทธิภาพ หวังรัฐบาลใหม่แก้ปัญหาให้ถูกจุด แนะเร่งควบคุมให้ถูกกฎหมาย 

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 66 นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) และเพจ "บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร" ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน โต้ข้อมูล ศจย. กรณีอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประตูสู่การสูบบุหรี่ว่า ผลสำรวจการใช้ยาสูบในเยาวชนโดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริการะบุว่าอัตราการสูบบุหรี่ของนักเรียนมัธยมในประเทศอเมริกาลดลงกว่า 90% จาก 15.8% ในปีพ.ศ. 2554 เหลือเพียง 2% ในปีพ.ศ. 2565 แม้ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 14% แต่การใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบรวมก็ลดลงจาก 17% เหลือเพียง 14.7% แสดงว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ทำให้เด็กสูบบุหรี่มากขึ้น

นายอาสา กล่าวเพิ่มว่า อัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนในประเทศอังกฤษระหว่างปี 2541-2558 ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง และลดลงต่ำที่สุดในประวัติการณ์เช่นกัน ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเวลาพบว่าแนวโน้มการลดลงของอัตราส่วนการสูบบุหรี่ในเยาวชนไม่มีการหยุดชะงักหรือชะลอตัวแม้ในช่วงเวลาที่บุหรี่ไฟฟ้าได้รับความนิยม และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ของอังกฤษหรือ ASH UK ก็ย้ำว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้าในหมู่เยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ยังคงตํ่าและส่วนใหญ่เป็นเพียงการทดลองเท่านั้น

ขณะที่ นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายฯ อีกรายกล่าวเสริมว่า ประเทศไทยติดอยู่กับวาทกรรมว่าการแบนช่วยปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยของบุหรี่ไฟฟ้า และเราติดกับดักกับความคิดนี้มา 8 ปีแล้ว แต่ในปัจจุบันก็เห็นชัดว่าแม้จะมีการแบนบุหรี่ไฟฟ้ามาร่วม 8 ปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือเรากลับเห็นบุหรี่ไฟฟ้าระบาดไปทั่ว ไม่ว่าจะตลาดนัดหรือช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการแบนบุหรี่ไฟฟ้าเป็นมาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และสร้างภาระให้หน่วยงานอื่นที่ต้องมาไล่จับสินค้าเถื่อน เราสนับสนุนให้นำบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาควบคุมบนดินให้ถูกกฎหมาย ระบุให้ชัดเจนและควบคุมอย่างมีระบบระเบียบเพื่อให้มีประสิทธิภาพไปเลย เพราะไม่มีใครอยากเห็นเด็กและเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่แล้ว

...

"ที่ผ่านมาพวกเราเคยทำหนังสือ นำเสนอข้อมูล และเข้าไปชี้แจงผลกระทบที่ผู้สูบบุหรี่และผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้รับจากการแบนบุหรี่ไฟฟ้าให้กับกระทรวงสาธารณสุขรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหลายครั้ง จนกระทั่งมีการศึกษาอย่างจริงจังครั้งแรกที่คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเรื่องยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ในคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา และครั้งที่สองโดยคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพและติดตามการบังคับใช้กฎหมายด้านการสาธารณสุข ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข และมีการจัดทำรายงานซึ่งระบุข้อเสนอให้ยกเลิกการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ไร้ควันและผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินอื่นๆ และใช้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ที่มีอยู่เข้ามาควบคุมแทนซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที พวกเราจึงอยากฝากไปยังรัฐบาลใหม่ให้นำรายงานนี้ไปพิจารณาต่อยอดและศึกษาต่อหรือยกร่าง พ.ร.บ. ใหม่เพื่อจะได้กำหนดมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม ไม่เกิดปัญหาเหมือนเช่นการปลดล็อกกัญชาแต่ไม่มีกฎหมายควบคุมมารองรับ"