กรมฝนหลวงฯ เตรียมฝูงบินลุยช่วยพื้นที่เกษตร-อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศรวม 70 แห่ง เพื่อให้มีน้ำใช้การเพียงพอ รับมือภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่คาดว่าปริมาณฝนจะตกน้อยกว่าปี 2565
วันที่ 19 พ.ค.2566 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ในปีนี้ตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงปัจจุบัน พบว่า สถานการณ์ฝนมีฝนตกเพียงเล็กน้อย บางพื้นที่ยังไม่มีฝนตก ทำให้สถานการณ์น้ำและความชื้นในดินมีค่อนข้างต่ำ ซึ่งทำให้พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานที่มีพื้นที่ประมาณ 78% หรือประมาณ 116 ล้านไร่ จากพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้ทั้งหมด 230 ล้านไร่ ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ขณะเดียวกันมีเกษตรกรและประชาชนขอรับบริการฝนหลวงเข้ามาจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ (ข้อมูลการขอฝนวันที่ 1-14 พ.ค. 2566) จำนวน 1,387 ราย จาก 64 จังหวัด 459 อำเภอ
อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ว่า เริ่มมีปริมาณเก็บกักลดน้อยลงตามลำดับ บางแห่งมีปริมาณน้ำต่ำกว่า 50% โดยทางกรมชลประทานมีการขอสนับสนุนให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ จำนวน 70 แห่ง อีกทั้งจากการคาดการณ์สภาพอากาศของปี 2566 พบว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ จะส่งผลกระทบให้ฤดูฝนปีนี้ มีฝนตกน้อยกว่าปี 2565 เกิดฝนทิ้งช่วงตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป และเกิดความแห้งแล้งขึ้นจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าปกติ จึงได้สั่งการให้มีการปรับแผนการทำงานเพื่อรับมือกับภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น
...
นายสุพิศ กล่าวอีกว่า โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 12 หน่วยฯ ทั่วทุกภูมิภาค ใช้อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 23 ลำ และอากาศยานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ จำนวน 6 ลำ รวม 29 ลำ ได้แก่ ภาคเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ตาก , ภาคเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัตการฝนหลวงที่ จ.พิษณุโลก ,ภาคกลาง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.ลพบุรี และ จ.กาญจนบุรี ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.ขอนแก่น ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.นครราชสีมา และ จ.อุบลราชธานี,ภาคตะวันออก ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.จันทบุรี และ ภาคใต้ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.สงขลา และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
นายสุพิศ กล่าวอีกว่า กรมฝนหลวงฯ มีการติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และความต้องการน้ำของพี่น้องประชาชนเป็นประจำทุกวันเพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเชิงรุกให้มีปริมาณน้ำเต็มอิ่ม เพียงพอสำหรับทำการเกษตร การอุปโภคบริโภค และมีปริมาณน้ำเก็บกักสำหรับใช้การ ทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้า น้ำประปา รวมถึงด้านอุตสาหกรรม และยังมีการเฝ้าระวังการเกิดพายุลูกเห็บที่เกิดจากพายุฤดูร้อน โดยมีทีมปฏิบัติการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องประจำการอยู่ที่หน่วยฯ จ.พิษณุโลก และหน่วยฯ จ.เชียงใหม่
อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวด้วยว่า สำหรับผลปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. - 14 พ.ค. 2566 มีการขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 67 วัน 1,501 เที่ยวบิน มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 62 จังหวัด เช่น จ.ลำปาง จ.เชียงใหม่ จ.แพร่ จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.จันทบุรี จ.ราชบุรี จ.พัทลุง รวมถึงช่วยเพิ่มประมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กทั่วประเทศอีกด้วย อย่างไรก็ตาม พี่น้องประชาชน เกษตรกร สามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร แจ้งสถานการณ์ความต้องการน้ำเพื่อขอรับบริการฝนหลวงได้เป็นประจำทุกวันที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภูมิภาค อาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ หน่วยงานอำเภอ-จังหวัด