"พินิจ-เกา อันหมิง-ออท.จีน" เข้าร่วมเวทีเสวนา "จีนร่วมสมัยกับโลก การแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน" หวังเดินหน้าหนุนไทยทุกมิติ และเสริมให้มังกรผงาด โดยมีเป้าหมายจุดแข็งด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ก้าวสู่เทคโนโลยี 5G ส่งเสริมเส้นทางสายไหมสุขภาพ แพทย์แผนไทย ของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงการพัฒนาวัคซีนและยาต้านโควิด และในปี 2567 เส้นทางรถไฟจีน-ไทย จะเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการ เพราะเหตุคนจีนเดินทางเที่ยวไทยปีละ 10 ล้านคน
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 66 ที่ห้องประชุมจันทร์จรัส อาคารอธิการบดี ชั้น 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ได้มีการจัดเวทีสัมมนาหัวข้อ "จีนร่วมสมัยกับโลก การแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน"
นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีของไทย และในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในเวทีนี้ว่า ในอดีตชาวจีนยุคก่อนสงครามปลดแอก มีความเป็นอยู่ที่ไม่ดี แต่ระหว่าง ค.ศ. 1941 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มสงครามปลดแอกตัวเองของจีน เพื่อออกสู่ความยากจน จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 82 ปี ที่จีนสามารถปลดแอกตัวเองออกมาจากอดีตที่ยากจน และกล่าวได้ว่า เติ้ง เสี่ยวผิง คือ ผู้นำจีนที่ทำให้จีนเริ่มมีกินมีใช้ เริ่มพัฒนา และในยุคประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จีนเดินหน้าสู่การพัฒนาในทุกด้านอย่างเต็มตัว
"ผมกล่าว 2 ประเด็นด้วยกัน คือ ประเด็นที่หนึ่งเรื่องประวัติศาสตร์จีน และประเด็นที่สอง เรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยคนรุ่นใหม่จะต้องมีความรู้เรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะปัจจุบันจีนเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการตั้งกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ หรือกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ในไทยจะต้องมีข้อมูล รวมถึงเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ล่าสุดทำให้ทุเรียนไทยส่งออกไปถึง 25 โบกี้ และทำให้คนจีนเดินทางมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น" นายพินิจ กล่าว
...
ด้าน นายเกา อันหมิง รองประธาน (CICG) สำนักสารนิเทศต่างประเทศแห่งประเทศจีน กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อดังกล่าวว่า การแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ของทั้ง 2 ประเทศ คือ ไทยและจีน จะเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การพัฒนา 1 แถบ 1 เส้นทาง 2. การส่งเสริมความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลให้คนรุ่นใหม่ ในเรื่อง 1 แถบ 1 เส้นทาง และ 3. สร้างกลไกเพื่อ win win ทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน และเน้นโครงการต่างๆ เช่น เศรษฐกิจสีเขียว, การขนส่ง (Logistic) และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยการแสดงบทบาทของสื่อ เพื่อพัฒนากิจการความเป็นมิตรระหว่างไทยและจีน
รวมถึงการส่งเสริมมิตรไมตรีระหว่างไทยและจีน โดยมีสถาบันวิจัยจีนร่วมสมัยกับโลก (CICG) ซึ่งมีความใกล้ชิดกับอาเซียน เพื่อดำเนินโครงการต่างๆ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างไทย-จีน
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา "การแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน" โดยมี ดร.วิรุฬห์ พิชัยวงศ์ภักดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน, นายขุน ไพลินดีเลิศ นายกสมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน, นายเอกรัตน์ จันทน์รัฐิติกาล ผู้อำนวยการ สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล (ฝ่ายไทย) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, รศ.ดร.หาน เซิ่งหลง มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และผู้อำนวยการ สถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายจีน), นางสาวต๋า หองจวน ผู้จัดการฝ่ายความสัมพันธ์ภายนอกและภาครัฐ, บริษัทเกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยมีนายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ บรรณาธิการข่าว เดอะ ลีดเดอร์ เอเชีย (The Leader Asia) เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทั้งนี้ ในเวทีดังกล่าวมีการพูดถึงประเด็นกลุ่มทุนจีนสีเทา โดยนายชุน ไพลินดีเลิศ นายกสมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน กล่าวว่า คนจีนเดินทางมาเที่ยวไทยเฉลี่ยปีละ 10 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าประเทศญี่ปุ่นหลายเท่า ทำให้มีบ้างที่จะเกิดปัญหา แต่เชื่อว่าจะเป็นปัญหาที่ภาครัฐของทั้งสองประเทศจัดการได้ และไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของไทยและจีน
ส่วนนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาว่า จีนจะเดินหน้าส่งเสริมไทยในเรื่องเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีจุดแข็งด้านเศรษฐกิจดิจิทัล หรือโมเดล ดิจิทัล โดยเฉพาะการก้าวสู่เทคโนโลยี 5G เพื่อเป็นศูนย์กลางทางดิจิทัล, การส่งเสริมเส้นทางสายไหมสุขภาพ, ส่งเสริมการแพทย์แผนไทย ของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงการพัฒนาวัคซีนและยาต้านโควิด
ทั้งนี้ จีนให้ความสำคัญกับประเทศไทย โดยหลังการแพร่ระบาดโควิดคลี่คลาย รัฐบาลจีนได้ให้คนจีนสามารถเดินทางมาเที่ยวไทยได้ประเทศแรก โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยแล้ว 5 แสนคน นอกจากนี้ ในภาคเศรษฐกิจการลงทุนของจีน จีนใช้งบลงทุนในไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ ในสัดส่วนถึงร้อยละ 58 ของงบลงทุนต่างประเทศทั้งหมดของจีน ขณะมีนักลงทุนจีนมาลงทุนในไทย 180 บริษัท สร้างเม็ดเงินการลงทุนให้ไทย 4,200 ล้านบาท สร้างงาน 45,000 ตำแหน่ง รวมทั้งจีนยังมาเปิดธนาคารเงินหยวนในไทย การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ระหว่าง 2 ประเทศ การเชื่อมโยงระหว่างจิตใจระหว่างชาวไทยและจีน ภายใต้ประโยค "จีน-ไทย ครอบครัวเดียวกัน" ส่วนเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันมีมูลค่า 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
...
ทั้งนี้ จีนมองว่า ไม่ควรนำความผันผวนของสถานการณ์ภายนอก มาเป็นอุปสรรคต่อมิตรภาพและควรทำให้ 1 แถบ 1 เส้นทาง เป็นถนนแห่งความสุข และในปี 2567 เส้นทางรถไฟจีน-ไทย จะเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการ