ก่อนปี 2540 ผมตามคณะ ปราโมทย์ ฝ่ายอุประ (นายกสมาคมนักข่าว) ไปทอดกฐินที่วัดปากอู เสร็จแล้ว ก็ลงเรือล่องไปไหว้พระที่ถ้ำติ่ง แล้วก็วนเวียนเรือดูผาฮุ้ง ผาแอ่น

ยังพอจำได้ ล่องเรือจากหลวงพระบางขึ้นทางเหนือราวๆสองชั่วโมง...เกาะแก่งสวย น้ำใส

ในความรับรู้ ตอนนั้น ก็แค่นั้น

แต่ผาฮุ้ง ผาแอ่น ในความรู้ของ ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว (หนังสือสมบัติชีวิต ครบรอบ 86 ปี สำนักพิมพ์พื้นภูมิเพชร) ท่านรู้แบบครู รู้ลึกรู้กว้างรู้ไกล

ปากอู ตรงเชิงผาฮุ้ง (ผารุ้ง) ผาที่มีสัณฐานเหมือนเหยี่ยวกางปีก ทอดปีกขวาไปตามริมฝั่งโขง ส่วนปีกซ้ายทอดไปตามลำน้ำอู เหนือผาฮุ้งเป็นที่ตั้งของโลงนางอั้ว นางในนิทาน เรื่องรักรันทดของหนุ่มสาวขูลูนางอั้ว

สองคนนี้รักกันหวังจะได้อยู่กินด้วยกัน แต่แม่นางอั้วกีดกัน เพราะรังเกียจขูลูยากจน จะยกนางอั้วให้ขุนล่าง ลูกชายเศรษฐี

เมื่อพ่อแม่ขูลูบากหน้ายกขันหมากมาขอ แม่ก็ยังไม่ยอมให้ทั้งด่าว่า นางอั้วแขวนคอตาย ขูลูใช้ง้าวปาดคอตัวเองตาย ศพขูลูนางอั้วอยู่ในโลงเดียวกัน กลายเป็นผาซ้อนอยู่บนผาฮุ้ง

มาถึงเรื่อง “ฮุ้ง” เหยี่ยวใหญ่ที่มาตายเป็นผา เรื่องเล่าโลดโผนยิ่งกว่า เดิมทีมีเมืองชื่อขีดขิน ฮุ้งหรือเหยี่ยวตัวนี้บินมากินคนทุกวัน จนผู้คนจวนเจียนจะหมดเมือง

แล้วก็มีคนดีสองพี่น้อง ท้าวคัดทะเนก ท้าวคัดทะนาม อาสามาปราบฮุ้ง ใช้หน้าไม้ยิงปีกเหยี่ยวทะลุ บินมาตาย...มองไปที่หน้าผา ก็ตรงนั้น จะเห็นตรงปีกซ้าย มีรอยทะลุอยู่สองรู

ส่วนหน้าผา ผาแอ่น ผาที่โอบผาฮุ้ง ตรงบริเวณที่จดฝั่งโขงเรียกแก่งอ้อย เมืองง่า เหนือแก่งอ้อยมีน้ำทะลุผาออกมา ภาษาลาวเรียกน้ำนี้ว่า “ชี” คนล่องเรือมักคุยให้คนในเรือฟัง นี่คือ น้ำตานางอั้ว

...

ผาแอ่น ก็มีนิทานของตัวเอง สนุกไม่แพ้กัน เป็นเป้าลองฝีมือยิงหน้าไม้ ระหว่างคนเผ่าลาว กับคนเผ่าขมุ

เวลานั้น ผู้นำสองเผ่ามีปัญหาแย่งดินแดน แต่แทนที่จะทำสงคราม แต่กลับตกลงกันว่า ถ้าผู้นำเผ่าใดยิงหน้าไม้ได้แม่นกว่า ก็ให้เลือกแผ่นดินที่ต้องการ

เดิมพันตอนนั้น มีเมืองเพียง ที่เป็นที่ราบลุ่ม และเมืองเทิง บริเวณเชิงเขาสูง

ผลการยิงหน้าไม้ ปรากฏว่า ผู้นำสองเผ่ายิงเข้าเป้าได้เท่าๆกัน แต่ข้อต่าง ลูกหน้าไม้ของลาวยิงถูกเป้าแล้วปักติดหน้าผา แต่ลูกหน้าไม้ของเผ่าเทิง ยิงถูกเป้าแต่ร่วง

เป็นอันว่า เผ่าลาวผู้ชนะได้เมืองเพียง ครองที่ราบลุ่ม ส่วนเผ่าขมุผู้แพ้ ต้องไปครองเมืองเทิงบนเขา

เรื่องเล่า ที่ซุบซิบกันรู้ตั้งแต่สมัยโบราณถึงวันนี้ ลูกหน้าไม้ของเผ่าลาว ใช้ขี้สูด (ชันจากรังตัวชันโรง) ติดปลาย ยิงไปแล้วจึงแปะติดหน้าผา แต่ลูกหน้าไม้ของเผ่าขมุ ไม่มี

ว่ากันด้วยฝีมือพอๆกัน แต่ที่ชนะแพ้กันด้วยปัญญา

อาจารย์ล้อม เล่าสารพันตำนาน เรียกน้ำย่อยแล้ว ก็เข้าเนื้อหาสาระ... ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง สุโขทัย กล่าวตอนหนึ่ง“ไทชาวอูชาวของ (โขง) มาออก” ยืนยันถึงการเคลื่อนย้ายของผู้คน...ไม่ขาดสาย

หลังการขุดค้น แหล่งตั้งถิ่นฐานมนุษย์โบราณ ที่บ้านเชียง อุดรธานี นักวิชาการไทย ลาว อเมริกา ได้เริ่มโครงการวิจัยโบราณคดีลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางขึ้นเมื่อปี 2548

พื้นที่ที่ถูกเลือกเก็บข้อมูลภาคสนาม คือพื้นที่ลุ่มน้ำอู น้ำเชือง และน้ำคาน ในเขตลาวภาคเหนือ ผลการศึกษาเบื้องต้นทำให้เชื่อได้ว่า ลำน้ำอูอาจเป็นเส้นทางหลัก ในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของกลุ่มคน ที่พูดภาษาตระกูลลาว

และอาจารย์ล้อม เชื่อว่า รวมทั้งคนไทย

จึงพอรวมความได้ คนไทยมากมายที่ไปหลวงพระบาง แล้วลงเรือทวนน้ำขึ้นไปถึงเมืองอู ได้ไหว้พระที่ถ้ำติ่ง ล่องเรือดูผาฮุ้ง ผาแอ่น... น้อยคนจะได้รู้ว่า ย้อนมา ชนต้นทางหนึ่งสายหนึ่ง ในการอพยพลงใต้ของคนไทย

ถ้าเราเชื่อว่า “งั่วอิน” ลูกชายคนที่ห้า ที่ขุนบรม ส่งลงมาครองเมืองอโยธยา...(สุพรรณกาญจนบุรี) เป็นเรื่องจริง

ตอนที่งั่วอิน ใช้เส้นทางผ่าน “ปากอู” ก็คงต้องแหงนหน้ามองผาฮุ้ง ผาแอ่น ฟังตำนานขูลูนางอั้ว เหมือนพวกเราที่ไปทุกคน.

กิเลน ประลองเชิง