กรมวิชาการเกษตรเตรียมขยับตัวเป็นองค์กรรับรองการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อน ภายใต้นโยบายของรัฐบาลไทยที่วางเป้าหมายจะลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 66 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร (กวก.) ให้ความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร จึงเตรียมพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้เพื่อปรับบทบาทของกรมขึ้นเป็นองค์กรรับรองการลดก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้ลงนามความร่วมมือ MOU กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในการพัฒนาบุคลากรของกรมให้รองรับพันธกิจดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันไทยมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ในพืชเศรษฐกิจสำคัญ ตามนโยบาย Bio-Circular Green Economy (BCG) การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมาย Net Zero ซึ่งในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP 26 ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. - 12 พ.ย. 2564 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร รัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในปี 2065

ล่าสุดกรมได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ม.เกษตรศาสตร์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) องค์กรความร่วมมือของประเทศเยอรมนี และสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย ประสานการทำงานร่วมกับบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท ทักษิณปาล์ม (2521) จำกัด บริษัท วรุณา ประเทศไทย จำกัด บริษัท สยาม ควอลิตี้ สตาร์ช จำกัด ฯลฯ ศึกษาหารูปแบบหรือแนวทางปฏิบัติในการลดก๊าซเรือนกระจกในพืชเศรษฐกิจ นำร่องในพืชเป้าหมาย คือ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียนและมะม่วง

...

"จะได้รูปแบบวิธีการหรือแนวทางปฏิบัติในการลดก๊าซเรือนกระจกของพืชเศรษฐกิจ ที่สำคัญจะได้ baseline ของพืชแต่ละชนิด แปลงต้นแบบในการจัดการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ สำหรับให้ผู้สนใจเข้าสู่โครงการ T-VER เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิต ส่งผลให้การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรของไทยลดลง และเกษตรกรจะมีคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินการเกษตรที่ดีที่เหมาะสม คือมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงหรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อขาย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตของผลิตภัณฑ์ต่างๆ และขณะนี้ กวก.เตรียมจัดตั้ง กองพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อรองรับภารกิจใหม่" นายระพีภัทร์ กล่าว.