sacit ดึงคนรุ่นใหม่สร้างกระแส Soft Power ปั้นหัตถกรรมไทยสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ตอบรับเทรนด์สินค้าและบริการเติบโตเข้มแข็ง หวังแบ่งสัดส่วนการตลาด Soft Power ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ มูลค่าทางการค้ามหาศาลถึง 1.45 ล้านล้านบาทต่อปี

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 66 นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit เปิดเผยว่า จากพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่นิยมการเลือกซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ และยังพบว่ากลุ่มคน Gen Y ที่อยู่ในช่วงวัย 25–40 ปี มีบทบาทและอิทธิพลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ส่งผลให้ sacit กำหนดแผนดำเนินงานสืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เกิดการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ผ่านเครื่องมือการค้าที่เรียกว่าแพลตฟอร์มดิจิทัล

นายภาวี กล่าวด้วยว่า ในปี 2566 นี้ sacit จะมีการประชุมสมาชิกและสร้างเครือข่ายผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจดลิขสิทธิ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน การส่งเสริมการขายงานศิลปหัตถกรรมไทยทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงการให้ความรู้ใหม่ๆ ด้านการขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น

...

นอกจากนี้ จะเร่งขยายกลุ่มผู้ซื้อไปยังกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยอาศัยเครื่องมือด้านความบันเทิง สร้างการมีส่วนร่วมกับคนรุ่นใหม่ พร้อมใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพล (Key Opinion Leader) ที่สามารถเชื่อมต่อและสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ ประกอบกับการเน้นสร้างภาพจำของงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ทันสมัยและสามารถใช้งานในชีวิตประจำวัน อันจะนำมาสู่การบริโภคอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี sacit ได้ดำเนินการตามแผนงานดังกล่าว ผ่านการนำบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพล พร้อมด้วยตัวแทนของเยาวชนคนรุ่นใหม่ มานำเสนอความเป็นไทย ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังของ Soft Power งานศิลปหัตถกรรมไทย

ล่าสุดภายในงาน "Andaman Craft Festival" เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 66 ที่ผ่านมา ณ ลานมังกร จังหวัดภูเก็ต มีการนำเสนอพลังของงานศิลปหัตถกรรมไทยผ่านโชว์ของบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพล พร้อมด้วยการนำเยาวชนคนรุ่นใหม่นักเรียน นักศึกษามาถ่ายทอดหัตถกรรมไทย อีกทั้งยังได้พลังของคนตัวเล็ก น้องกานพลู ด.ญ.อัญช์ณฎา ลักขณา Phuket Young Ambassador หนึ่งในตัวแทนคนสำคัญของประเทศไทยที่นำเสนอความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 ได้มาร่วมนำเสนอมุมมอง "พลังคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนงานศิลปหัตถกรรมไทยในโลกดิจิทัล" สะท้อนให้คนไทยตระหนักถึงการมีส่วนร่วมสืบสานอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทย และยังสะท้อนพลังของการร่วมสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมไทยจากตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ถ่ายทอดโดยตรงไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยกัน

"เราพยายามผลักดัน Soft Power งานศิลปหัตถกรรมไทยไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผู้สืบสานส่งต่อความเป็นไทย และเป็นกลุ่มหลักของประเทศในการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากมีสัดส่วนประชากรจำนวนมากในขณะนี้ ดังนั้นหากสามารถสร้างให้คนรุ่นใหม่ เป็นเครือข่ายงานศิลปหัตถกรรมไทยที่เข้มแข็ง ประกอบกับใช้ช่องทางการตลาดผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ย่อมแผ่อิทธิพลออกไปในสังคมวงกว้างได้ และจะผลักดันให้เกิดพลังของงานศิลปหัตถกรรมไทย" นายภาวีกล่าว

และอีกหนึ่งคำยืนยันจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ประธานเปิดงาน "Andaman Craft Festival" ระบุ กระทรวงฯ มีนโยบายผลักดันจุดแข็งของประเทศในด้านสินค้าและบริการที่สะท้อนภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมเป็น Soft Power สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งพบว่าสินค้าประเภทนี้กำลังเป็นที่นิยม และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยในแต่ละปีสินค้าและบริการ Soft Power สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ มีมูลค่าทางการค้าจำนวนมหาศาลถึง 1.45 ล้านล้านบาท ครอบคลุมใน 5 ด้าน หรือที่เรียกว่า 5F ได้แก่ Food อาหารไทย, Film ภาพยนตร์และละครไทย , Fashion การออกแบบแฟชั่นไทยและผ้าไทย, Fighting ศิลปะการป้องกันตัวมวยไทย และ Festival เทศกาลประเพณีไทย กระทรวงฯ จึงมอบหมายให้สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ต่อยอดและสนับสนุนสินค้าและบริการประเภทดังกล่าวให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง พัฒนาให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคในชีวิตประจำวัน อีกทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดด้วยเครื่องมือดิจิทัลที่มีบทบาทสำคัญ และขยายฐานไปยังกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน.

...