ถ้าตั้งคำถามว่ามนุษย์ต่างจากสัตว์สายพันธุ์กิ้งก่ายักษ์อย่าง “เหี้ย” ตรงไหน ตอบแบบง่ายๆไม่ต้องคิดมาก ก็คงต้องบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์เลือดอุ่น แต่ “เหี้ย” เป็นสัตว์เลือดเย็น

ใครที่เคยดูหนังไซไฟอาจเคยเห็นมนุษย์กลายพันธุ์ แปลงร่างได้ กำจัดเชื้อโรคออกจากตัวและสร้างภูมิคุ้มกันได้เอง แต่เชื่อหรือไม่ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในโลกใบนี้ยังมีสัตว์ธรรมดาสายพันธุ์หนึ่งที่มีความมหัศจรรย์ของร่างกายแบบมนุษย์ในหนังไซไฟเหมือนกัน และ ไม่ได้อยู่ไกลตัวเราเลย

สัตว์ที่ว่านั้นก็คือ “เหี้ย” ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Vranus salvator หนึ่งในสายพันธุ์ กิ้งก่า Asian Water Monitor และเป็นหนึ่งในสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดของโลก

ในทางวิทยาศาสตร์ เหี้ยเป็นสัตว์เลือดเย็น และเป็นสัตว์ที่มีความพิเศษคือ สามารถฆ่าเชื้อโรคต่างๆได้เองโดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาชนิดใดๆช่วย ผลการศึกษาฉบับหนึ่งในต่างประเทศ ระบุว่า เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของเหี้ย ระบบภายในร่างกายของร่างกายจะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้เลยโดยไม่ต้องอาศัยแอนติบอดีเฉพาะมากำจัด เหมือนมีตัวรับหรือ recepter ที่สามารถรู้ได้ว่า เซลล์ที่เข้าสู่ร่างกายนั้นเป็นของแปลกปลอมและระบบของร่างกายก็จะจัดการทันที จึงไม่น่าแปลกใจที่แบคทีเรียหลายชนิดถูกฆ่าทิ้งในระบบเลือดของเหี้ย และเรื่องนี้ก็ทำให้ต่างชาติสนใจที่จะนำเลือด “เหี้ย” ไปวิจัย เพื่อพัฒนาเป็นยา โดยเฉพาะยาสำหรับผู้ป่วยที่มีการดื้อยา

...

รศ.น.สพ.ดร.จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้สัมภาษณ์ว่า ปกติเหี้ยจะไม่ป่วย เพราะเขากินของสกปรกแบบสุดยอด เชื้อโรคเข้าหาตัวได้ทั้งวันก็ไม่เคยเป็นอะไร แต่ถ้าเขาป่วย นั่นแสดงว่า ระบบในร่างกายเขาไม่สามารถเอาชนะเชื้อโรคได้

“ผมคิดว่าถ้าเขาป่วยก็เพราะคนนั่นละครับ ป่วยเพราะอาหารที่คนให้ จริงๆเราควรปล่อยให้เขาอยู่ตามธรรมชาติ เพราะธรรมชาติจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาเอง ซึ่งปกติเขาก็แข็งแรงที่สุดและมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงที่สุดอยู่แล้ว” คุณหมอจิตรกมล บอกและว่า เหี้ยเป็นสัตว์เลือดเย็น เวลาเขาไม่สบายเขาไม่สามารถปรับอุณหภูมิร่างกายของเขาให้อุ่นเพื่อรักษาตัวเองได้เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ต้องอาศัยความร้อนจากภายนอกเพื่อช่วยให้ตัวเขาสามารถรักษาตัวเองได้ นอกจากนี้ เหี้ยยังไม่มีต่อมน้ำเหลืองเหมือนในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ระบบน้ำเหลืองจะอยู่กันเป็นร่างแหที่โยงใยไปทั่วร่างกาย เรื่องของระบบเม็ดเลือดระหว่างเหี้ยกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็ยังต่างกันอีก โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะมีเม็ดเลือด 5 ชนิด ส่วนในเหี้ยจะมีเม็ดเลือด 6 ชนิด ซึ่งเพราะระบบน้ำเหลืองและระบบเลือดที่แตกต่างนี้เอง ที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเหี้ยไม่เหมือนสัตว์ตัวใด

ความน่าอัศจรรย์อีกอย่างคือ มีการค้นพบพยาธิเม็ดเลือดในเลือดเหี้ยเกือบครึ่ง ในการตรวจนับเม็ดเลือดซึ่งถ้าเป็นในสัตว์ปกติพยาธิเม็ดเลือดนี้จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย เลือดจางจนทำให้ป่วยอ่อนแอ และเลวร้ายสุดคือตาย แต่ในเหี้ยคือพยาธิเม็ดเลือดทำลายเม็ดเลือดแดงไปเท่าไหร่ ระบบภูมิคุ้มกันก็จะสร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาทดแทนตลอดเท่านั้น

ในหลายประเทศเชื่อว่าการกินเหี้ยมีประโยชน์มาก ตั้งแต่ปี 2562 ถึง ธ.ค.2563 ทีมนักวิจัยชาวอินโดนีเซียจากหลายมหาวิทยาลัย รวมถึงสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอินโดนีเซีย ได้ตระเวนไปยังหลายเมืองของอินโดนีเซีย เช่น เมืองคาราวัง เมืองซิบินอง และเมืองเซียบอง ในจังหวัดชวาตะวันตก เพื่อพูดคุยถึงพฤติกรรม ความเห็น และข้อเท็จจริงทางโภชนาการของการกินเนื้อ Varanus salvator หรือตัวเงินตัวทอง โดยพบว่าประชาชนในจังหวัดชวาตะวันตกนิยมกินเนื้อตัวเงินตัวทองเป็นจำนวนกว่า 50,000 ตัวต่อปี ไม่เพียงเท่านั้น ทีมวิจัยยังพบว่าวัฒนธรรมการกินเนื้อตัวเงินตัวทองแพร่หลายไปในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะด้วยความเชื่อว่าเป็นอาหารที่มีสรรพคุณทางยา หรือเพื่อรับมือกับวิกฤติขาดแคลนอาหาร

...

จากการตรวจสอบเมนูอาหารบนอินเตอร์เน็ตของร้านที่จำหน่ายเนื้อตัวเงินตัวทองพบว่า มีการนำเนื้อ “เหี้ย” มาทำเป็นข้าวผัด อาหารทอดและเนื้อสะเต๊ะ สนนราคาอยู่ที่ 45-115 บาทต่อจาน ซึ่งการค้นพบนี้ทำให้ความเชื่อดั้งเดิมของทีมวิจัย และในฐานะคนเมืองเปลี่ยนไป จากเดิมที่พบว่ามีเพียงชนเผ่าพื้นเมืองไม่กี่เผ่าในอินโด นีเซียที่ทานเนื้อตัวเงินตัวทอง รวมถึงชนเผ่าบาตักบนเกาะสุมาตรา เผ่าดายักในกาลิมันตัน และเผ่ามินาฮาสะบนหมู่เกาะสุลาเวสี ซึ่งนิยมจับเหี้ยที่พบตามหนองน้ำ หรือฟาร์มเลี้ยงปลาดุกมาปรุงเป็นอาหารกินกันในครอบครัว

เมนูเด็ดหนึ่งของประชาชนในพื้นที่คือ แกงเนื้อตัวเงินตัวทองเผ็ดร้อน ที่เรียกว่า pedesan มีการใช้หอมแดง กระเทียม ขมิ้น พริกแดง และตะไคร้ ทำให้เป็นอาหารที่มีกลิ่นหอม รสจัดจ้าน

...

ในเมืองคาราวังของอินโดนีเซีย ผู้คนมีความเชื่อว่าการรับประทานเนื้อตัวเงินตัวทองสามารถรักษาโรคผิวหนังบางประเภทได้ โดยเฉพาะสิวและผื่นคัน เช่นเดียวกับในเมืองซิบินอง มีแผงเร่ขายเนื้อเหี้ยแบบสตรีทฟู้ดหลายแห่ง โดยเน้นจุดเด่นคือ อาหารที่มีสรรพคุณทางยา ซึ่งลูกค้าของร้านจำนวนมากเชื่อว่าการบริโภคเนื้อเหี้ย เป็นยาชูกำลังวังชาทางเพศได้ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารด้านชาติพันธุ์วิทยาเขตร้อน สรุปว่า การบริโภคตัวเงินตัวทอง ในบางชุมชนของชวาตะวันตก เป็นผลมาจากความเชื่อถึงสรรพคุณการรักษาปัญหาผิวหนัง แม้จะยังไม่มีการทดสอบเพื่อพิสูจน์ชัด แต่พวกเขาก็นิยมนำมาปรุงอาหารและรับประทานกันจนเป็นเรื่องปกติ

ชาวบูกิต ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองบนเกาะสุสาเวสี ในอินโดนีเซีย ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม เชื่อว่าเหี้ยเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ โดยเชื่อว่าเป็นวิญญาณบรรพบุรุษที่กลับมาเกิดใหม่ในร่างของสัตว์เลื้อยคลาน ชาวบูกิตจะรักและเลี้ยงดูเหี้ยเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหลานของตนเอง มีการเลี้ยงดูและอาบน้ำให้เป็นอย่างดี และเมื่อถึงเวลาจะมีพิธีแห่นำเหี้ยไปปล่อยที่แม่น้ำ ด้วยหวังว่าสักวันหนึ่งเหี้ยจะกลับหามาตนและครอบครัวอีกครั้ง ซึ่งน้ำที่เหี้ยลงไปว่ายถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถนำไปดื่มกินหรืออาบได้ ซึ่งความเชื่อนี้แม้ถูกมองว่าแปลกสำหรับสายตาคนนอก เพราะไม่มีอยู่ในหลักศาสนาอิสลาม แต่นี่เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่มีมาก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามาเผยแผ่ และยังสืบทอดมาจนถึงวันนี้.