ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ.66 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและภาคประชาชน 21 ราย ยื่นฟ้อง รมว.คมนาคม อธิบดีกรมทางหลวง บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) คณะรัฐมนตรี กรมทางหลวง และกระทรวงคมนาคม กรณีอนุมัติแก้ไขบันทึกข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถนนวิภาวดีรังสิต ตอนดินแดง-ดอนเมือง (ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์) ฉบับที่ 3/50 ลงวันที่ 12 ก.ย.50 โดยยินยอมให้บริษัท เก็บค่าผ่านทางชดเชยส่วนที่ลดลงตามสัญญาสัมปทานเดิม เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ 22 ธ.ค.52-21 ธ.ค.57 นั้น มีราคาสูงเกินควร เป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนมากเกินสมควร
สำหรับการยกฟ้อง ศาลฯให้เหตุผลว่า สัญญาสัมปทาน ช่วงดินแดง-ดอนเมือง และส่วนต่อขยายดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน เป็นสัญญาที่ให้เอกชนร่วมทุนในโครงการของรัฐ โดยบริษัท ลงทุนออกแบบก่อสร้าง บำรุงรักษา และเก็บค่าผ่านทางแต่ฝ่ายเดียว ส่วนรัฐเป็นผู้ตรวจสอบการประกอบกิจการ และควบคุมการจัดเก็บค่าผ่านทางให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน โดยรัฐจะได้ส่วนแบ่งของรายได้เป็นรายเดือน เริ่มตั้งแต่ปีที่ 22 ของสัมปทาน 25 ปี ประกอบกับการทำข้อตกลงขยายอายุสัมปทานเป็น 27 ปี ระหว่างกรมทางหลวง และกระทรวงคมนาคมกับบริษัทไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้บริษัท เพราะการดำเนินการเป็นไปตามวิธีการและขั้นตอนที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี กำหนด
ส่วนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและภาคประชาชน อ้างว่ากรณีอนุมัติแก้ไขบันทึกข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทาน ฉบับที่ 3/50 มีค่าผ่านทางสูงเกินควร เพิ่มภาระประชาชนมากเกิน สมควรนั้น เห็นว่าตั้งแต่เปิดใช้ดอนเมืองโทลล์เวย์วันที่ 21 ธ.ค.47- 21 ธ.ค.52 บริษัทจัดเก็บค่าผ่านทางต่ำกว่าราคาที่กำหนดในสัญญาสัมปทานเดิม และการปรับค่าผ่านทางวันที่ 22 ธ.ค.52-21 ธ.ค.57 ก็เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทาน ฉบับที่ 2/39 วันที่ 29 พ.ย.39 ที่ให้ปรับจากอัตราเดิม 20 บาท เป็น 30 บาท และให้ปรับราคาอีก 10 บาท เป็น 40 บาท เมื่อส่วนต่อขยายดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน เปิดให้ใช้งาน รวมทั้งให้ขึ้นอีก 10 บาท ทุก 5 ปี จึงถือไม่ได้ว่าค่าผ่านทางตามบันทึกข้อตกลงฉบับที่ 3/50 เป็นการสร้างภาระให้ประชาชน จึงพิพากษายกฟ้อง.
...