วันที่ 27 ก.พ.66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ว่า ปัจจุบันรายได้หลักของกทม.คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้ กทม.เก็บข้อมูลพื้นฐานสิ่งปลูกสร้างได้ 96% แบ่งเป็น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง คอนโดมิเนียม โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม เก็บข้อมูลเข้าระบบจัดเก็บภาษีแล้ว 100% ปัญหาที่พบคือ การลดภาษีตามนโยบายของรัฐบาล 15% เหลือ 85% มีผลกระทบต่อรายได้ กทม. ทั้งนี้ กทม.ตั้งเป้าเก็บภาษีให้ได้มากกว่าปี 2565 โดยตั้งคณะกรรมการจัดหารายได้ช่องทางอื่นเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการดัดแปลงที่ดินให้เป็นพื้นที่การเกษตรเพื่อหลบเลี่ยงภาษี โดยไม่ได้ทำเกษตรจริง ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำและให้ประชาชนเสียภาษีตามทรัพย์สินที่มีอยู่จริง โดยเฉพาะบางพื้นที่ เช่น เขตห้วยขวาง มีจำนวนที่ดินกว่า 100 ไร่ ซึ่งอยู่กลางเมือง แต่ดัดแปลงให้เป็นพื้นที่การเกษตร กทม.จำเป็นต้องตรวจสอบและรวบรวมข้อมูล เนื่องจากเป็นรายได้ที่ขาดหายไป
นอกจากนี้ยังมีภาษีป้ายและค่าธรรมเนียมรถยนต์ โดยกรมการขนส่งทางบกจัดเก็บให้ กทม. ที่ผ่านมาจัดเก็บได้สูงสุดประมาณ 13,000 ล้านบาทต่อปี แต่ในช่วงโควิด-19 ลดลงประมาณ 1,000 ล้านบาท สามารถจัดเก็บได้เพียง 12,000 ล้านบาท ดังนั้น กทม.เตรียมทำ MOU ร่วมกับกรมขนส่งทางบก ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อช่วยติดตามทวงถามผู้ที่ไม่ยอมเสียภาษีป้ายฯ เนื่องจากกรมขนส่งทางบกอาจไม่มีแรงจูงใจในการทวงถามภาษีกับผู้ที่ยังไม่ได้จ่าย เพราะรายได้จากภาษีป้ายฯทั้งหมดเป็นของ กทม. ส่วนค่าปรับจราจรพบว่า จัดเก็บได้ลดลงกว่า 200-300 ล้านบาท ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 จึงจัดเก็บได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ต้องหารือกับตำรวจเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บเพิ่มขึ้น.
...