วันเสาร์สบายๆวันนี้ ผมชวนท่านผู้อ่านไปคุยเรื่องที่ฟังแล้วไม่ค่อยสบายใจสักวันนะครับ นั่นก็คือเรื่อง “โรคซึมเศร้า” ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยและสังคมโลก ส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตาย การกราดยิงในสหรัฐฯ สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ได้เผยแพร่ข้อมูลเมื่อวันจันทร์ระบุว่า วัยรุ่นหญิงในสหรัฐฯกำลังเผชิญกับความรู้สึกโศกเศร้า และการกระทำที่รุนแรงในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

รายงานที่เผยแพร่โดย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ ระบุว่า

เด็กหญิงราวร้อยละ 57 รู้สึกเศร้าหรือสิ้นหวังตลอดเวลาในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36 ในปี 2011 ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวในวัยรุ่นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21 ในปี 2011 เป็นร้อยละ 29 ในปี 2021 รายงานดังกล่าวครอบคลุมการวิเคราะห์ข้อมูลและแนวโน้ม จากการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนประจำปี ซึ่งพิจารณาจากสุขภาพและพฤติกรรมของนักเรียนระดับมัธยมปลายในสหรัฐฯ

คุณเดบรา ฮูรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ รองผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์ของศูนย์ฯ กล่าวว่า เด็กสาววัยรุ่นในสหรัฐฯ จมอยู่ในคลื่นแห่งความโศกเศร้า ความรุนแรง และความบอบช้ำทางจิตใจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ประสบกับความรุนแรง สุขภาพจิตย่ำแย่ และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

โรงเรียนหลายแห่ง ในนครซีแอตเติล ได้มีการฟ้องร้องแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อย่าง TikTok, Instagram, Facebook, YouTube, Snapchat ต่อศาลสูงสหรัฐฯกล่าวหาว่า สื่อสังคมออนไลน์ทำให้เด็กเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต ความผิดปกติทางพฤติกรรม รวมไปถึง ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า การกินผิดปกติ การระรานทางไซเบอร์เพิ่มมากขึ้น ทำให้โรงเรียนต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น ศาลสูงสหรัฐฯจะพิจารณารับฟ้องคดีในเดือนหน้านี้

...

ก่อนหน้านี้ใน วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) 10 ตุลาคม 2565 อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้เรียกร้อง ให้หยิบยกประเด็น “สุขภาพจิต” เป็น ปัญหาสำคัญระดับโลก และกระตุ้นให้มีการส่งเสริมการดูแลสุขภาพจิตที่มีคุณภาพในระดับสากล

กูเตอร์เรส ระบุว่า ประชากรโลกเกือบ 1,000 ล้านคนต้องอยู่ร่วมกับปัญหาสุขภาพจิต บางประเทศมีบุคลากรด้านสุขภาพจิตเพียง 2 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ประมาณ 34 ล้านล้านบาท

นายกูเตอร์เรส กล่าวว่า เราควรจัดให้ประเด็นสุขภาพจิตเป็นปัญหาสำคัญของโลกและลงมือจัดการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทุกคนทุกพื้นที่เข้าถึงบริการสุขภาพจิตที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว เพื่อดูแลคนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างมีคุณภาพ

ในประเทศไทยข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต ระบุ มีคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ประมาณ 1.5 ล้านคน จากประชากร 66 ล้านคน ถือว่าเยอะมาก คิดเฉลี่ยออกมาเท่ากับ คนไทยทุก 44 คน มีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 1 คน หรือ 2.27% แต่จิตแพทย์ไม่รู้มีกี่คน

ข้อมูลจาก พญ.เพ็ญชาญา อติวรรณพัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช รพ.วิมุต กล่าวว่า คนที่เป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้คิดว่าตัวเองเศร้า เพราะภาวะซึมเศร้าคือ ภาวะที่สารเคมีในสมองเสียสมดุล เกิดการแปรปรวน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ จะเกิดอารมณ์ด้านลบ เช่น เศร้า เบื่อ หน่าย นอนยาก คิดมากจนนอนไม่หลับ อารมณ์ทางลบ จะส่งผลกระทบ ต่อความคิดอ่านสมาธิ ความจำ บางคนอาจมีอาการวิตกกังวล รู้สึกหมดหวัง รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น ไม่อยากทำอะไรเลย อยากนอนอย่างเดียว ฯลฯ

คนที่น่าเป็นห่วงอีกกลุ่มที่ยังไม่มีใครพูดถึงก็คือ นักการเมือง เมื่อ ทุจริตคอร์รัปชันแล้วไม่คิดว่าตัวเองทุจริต คนกลุ่มนี้ก็น่าจะป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” เหมือนกัน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”