พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พล.อ.ต.สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการ พระราชวัง เป็นผู้แทนพระองค์ เป็นประธานในพิธีสอบเปรียญธรรม 7 ณ วัดสามพระยาวรวิหาร เขตพระนคร กทม.
“บาลี” เป็นชื่อของภาษาที่ใช้จารึกรักษาไว้ซึ่งพระพุทธพจน์ กล่าวคือ พระไตรปิฎก มีพระวินัย พระสูตร และ พระอภิธรรม รวม 84,000 พระธรรมขันธ์ ดังพระบาลีอธิบายไว้ว่า “พุทฺธวจนํ ปาเลตีติ ปาลี” ภาษาใดรักษาไว้ซึ่งพระพุทธพจน์ เหตุนั้นภาษานั้นชื่อว่า “บาลี”
ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา การศึกษาภาษาบาลีมีระบบมากขึ้นเริ่มจัดสอบเป็นชั้นๆ มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ ต่อมาแบ่งเป็น 9 ชั้น 8 ระดับ คือ ประโยค 1-2 (ระดับ 1) และเปรียญ (ป.ธ. 3-9) (7 ระดับ) ผู้สอบได้ตั้งแต่ ป.ธ. 3-9 ประโยค จะเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตร พัดยศ และผ้าไตร ในพระบรมมหาราชวัง
สำหรับพระภิกษุสอบได้ตั้งแต่ ป.ธ. 3 ประโยคขึ้นไป จะใช้คำนำหน้าว่า “พระมหา” ส่วนสามเณรจะใช้คำนำหน้าว่า “เปรียญ” การเข้ารับพระราชทานนี้เรียกว่า “ทรงตั้งพระเปรียญ”
...
กระทั่งปี 2564 เป็นปีที่ประเทศไทยพบวิกฤตการณ์โควิด-19 มีผลกระทบต่อศรัทธาสาธุชนที่จะต้องมาช่วยกันสนับสนุนการสอบพระบาลีสนามหลวง ทุกช่วงชั้นประโยค
แม้ทาง แม่กองบาลีสนามหลวง จะขยับขยายการสอบออกเป็นหลายๆ ระลอก เพื่อไม่ให้ผิดธรรมเนียมปฏิบัติ แต่ในแง่ชาวพุทธแล้วกำลังอยู่ในช่วงแห่งความเดือดร้อน จากพิษภัยโรคร้ายและเศรษฐกิจย่ำแย่โดยทั่วกัน
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ราวกับหยดน้ำอมฤตจากฟากฟ้าสุราลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับอุปถัมภ์การสอบพระบาลีสนามหลวงไว้ในพระอุปถัมภ์ทั้งหมด
ทรงจัดให้มีแพทย์หลวงร่วมกับแพทย์ รพ.สงฆ์ ตรวจคัดกรองที่สนามสอบ พระราชทานเครื่องมือตรวจวัด ATK แมสก์ อุปกรณ์การสอบ พระราชทานภัตตาหารพระราชทานแก่พระภิกษุ ผู้เข้าสอบ กรรมการคุมสอบ และอาหารพระราชทานแก่จิตอาสาที่มาช่วยงาน และพระราชทานมาจนถึงวันสอบครั้งที่ 2 วันตรวจข้อสอบ
ในสนามสอบส่วนกลาง มีผู้แทนพระองค์ไปในพิธีการเปิดการสอบวันแรกทุกพระอารามหลวงที่เป็นสนามสอบ
ณ วัดสามพระยาวรวิหาร เป็นสนามสอบ ป.ธ.7 เมื่อวันที่ 23 ม.ค.66 พล.อ.ต.สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง เป็นประธานในพิธี และเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2566 พล.อ.ศิวะ ภระมรทัต ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ เป็นประธานในพิธีสอบ ป.ธ.8-9
...
พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เจ้าคณะภาค 5 ผู้รักษาการเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ, กก.มหาเถรสมาคม ในฐานะ “แม่กองบาลีสนามหลวง” ให้ความเมตตาไปเยี่ยมสนามสอบทุกแห่ง การสอบชั้น ป.ธ. 6-9 ประโยค เพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา และจะเริ่มสอบประโยค 1-2 และ ป.ธ. 3-5 ประโยค วันที่ 15-17 ก.พ.นี้
ในการพระราชทานภัตตาหารนั้น สำนักพระราชวัง มอบหมายให้ สมาคมภัตตาคารไทย ดำเนินจัดการให้ผู้ประกอบการร้านอาหารในจังหวัดนั้นๆ เป็นผู้จัดทำภัตตาหารพระราชทาน ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ทรงรับการอุปถัมภ์ไว้ โดยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายจากพระ ราชทรัพย์ส่วนพระองค์ตรง ที่กองงานในพระองค์ 904
...
มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง ในพิธีทรงตั้งเปรียญธรรมที่มิได้พระราชทานมาในช่วงปี 2563-2564 รวมมาในปีเดียวกันในปี 2565 ในพระบรมมหาราชวัง
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูง เป็นขวัญและกำลังใจแก่คณะสงฆ์ทั่วประเทศ จะเห็นได้ว่ามีความตื่นตัวในการเรียน การสอบมากขึ้นในทุกปี ชาวพุทธเองย่อมปลื้มใจที่บุตรชายตั้งใจเรียน
สังเกตได้จากวันทรงตั้งเปรียญธรรม ณ สนามหลวง มีครอบครัวเหมารถมาแสดงความยินดีกับพระสงฆ์เหมือนกับวันรับปริญญาทางโลก
ในวันนั้นผู้ที่ทรงตั้ง ป.ธ. 6-9 ประโยค จะมีรถหลวงรับจากพระบรมมหาราชวังไปส่งทุกรูปทุกวัด ครอบครัวที่มาแสดงความยินดี มีพระมหากรุณาธิคุณให้จัดเลี้ยงอาหาร เช้า เที่ยง เย็น ดูแลด้วยความใส่ใจเป็นอย่างดี
นับว่ายุคนี้เป็นยุคทองแห่งวงการพระบาลีอย่างแท้จริง.
สนธยา พิกุลทอง รายงาน