รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.ศูนย์คุณธรรม แถลงรายงานสถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยในปี 2565 ว่า จากการจัดทำงานวิจัยเชิงสังคมสะท้อนทัศนคติของคนไทยและสังคมไทยที่มีต่อคุณธรรมในยุคปัจจุบัน ถอดเป็นดัชนีชี้วัดคุณธรรม 5 ด้าน ประกอบด้วย พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และกตัญญู ในกลุ่มเยาวชน อายุ 13-24 ปี กลุ่มวัยทำงาน อายุ 25-40 ปี และกลุ่มผู้ใหญ่ อายุ 41 ปีขึ้นไป จาก 6 กลุ่มอาชีพหลัก ได้แก่ เกษตรกรรม รับราชการ พนักงานเอกชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ รับจ้างทั่วไป และธุรกิจส่วนตัว ซึ่งทุกกลุ่มคะแนนที่ดีสุดคือความกตัญญู เมื่อแยกเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์พอใช้ 4.66 คะแนน

ผอ.ศูนย์คุณธรรมกล่าวว่า ส่วนกลุ่มวัยทำงาน กว่าร้อยละ 60 เป็นคนโสด และปีนี้ข้อมูลด้านคุณธรรม ลดลงกว่าปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.40 จาก 4.64 คะแนน ที่น่าห่วงคือคุณธรรมด้านวินัยและความรับผิดชอบที่อยู่ในเกณฑ์สีแดง ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่อยู่ที่ 4.25 คะแนน ที่น่าห่วงคือเรื่องความพอเพียง และเมื่อสรุปประเด็นสีม่วงซึ่งต้องเร่งแก้ไขหลายด้าน เช่น กลุ่มเยาวชน ไม่กล้าแจ้งตำรวจเมื่อรู้ว่าเพื่อนทำผิดกฎหมายเพราะไม่ใช่เรื่องของตนเอง หลีกเลี่ยงเป็นอาสาสมัครเพราะไม่เกิดประโยชน์ กลุ่มวัยทำงาน ใช้การตัดสินใจหรือแก้ปัญหาโดยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุ ยอมลงมือทำแม้จะขัดกับกฎกติกาสังคม เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ เลือกทำงานกับคนที่ให้ผลประโยชน์กับตนเอง ส่วนผู้ใหญ่ให้ความสำคัญและทุ่มเทเวลาให้กับงานมากกว่าการดูแลตนเองและครอบครัว ไม่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ทั้งนี้ ศูนย์คุณธรรมฯจัดทำข้อเสนอเพื่อการพัฒนา ได้แก่ 1.นำหลักการสื่อสารพลังบวกมาใช้กับบ้าน ชุมชน โรงเรียน และที่ทำงาน 2.การสร้างกลไกทางสังคมที่ทำให้คนดีมีพื้นที่ยืน ความดีมีพื้นที่ในสังคม 3.รณรงค์สร้างสำนึกจิตสาธารณะที่เกิดจากความสมัครใจ 4.รณรงค์ให้หยุดพักการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเสริมสร้างพลังบวก และ 5.สนับสนุนให้มีการสำรวจดัชนีชี้วัดคุณธรรมและต้นทุนชีวิตรายจังหวัดแบบปีเว้นปี.

...