เตือน “กรุงเทพฯ” มลพิษอันดับ 4 ของโลก กรมควบคุมมลพิษแจ้ง 70 พื้นที่ทั่วประเทศค่าฝุ่น PM2.5 สูงในระดับอันตรายสีแดง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ระบุเฝ้าระวัง 3-4 ก.พ.นี้ค่าฝุ่นยังสูงต่อเนื่อง เร่งยกระดับลดจุดความร้อน ผลหารือร่วม กทม.ให้ จนท.WFH ส่วน กทม.ยังไม่ประกาศ ปิดโรงเรียน แต่ให้งดกิจกรรมกลางแจ้งปัญหาฝุ่นจิ๋วที่เป็นภัยต่อสุขภาพอย่างมากกำลังเป็นประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ที่ต้องเร่งแก้ไข
ทั้งนี้ ที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 2 ก.พ. นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ แถลงถึงการยกระดับมาตรการเพื่อลดแหล่งกำเนิด PM2.5 และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ว่า เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 2 ก.พ. ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้ระหว่าง 17-158 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดีมาก ถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ วันนี้มีพื้นที่สีแดงรวม 70 พื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่อยู่ในเขต กทม.และปริมณฑล ถือว่าค่าฝุ่นสูงติดต่อกันเป็นวันที่สอง มีปัจจัยสำคัญจากสภาพอากาศปิด ลมสงบ การจราจรติดขัด ส่งผลให้ฝุ่นสะสมตัวมากขึ้น
นายปิ่นสักก์กล่าวอีกว่า กระทรวงได้ร่วมบูรณาการกับ กทม. มีข้อสรุปตามมาตรการไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.พ. อาทิ หน่วยงาน กทม.ให้ทำงานจากที่บ้าน (WFH) ยกเว้นส่วนที่ให้บริการประชาชน ขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ WFH ให้ผู้อำนวยการเขตประสานกับเอกชนในพื้นที่ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ให้ความร่วมมือในการ WFH หากค่าฝุ่นใน กทม.ยังอยู่ระดับ 3 (ค่าฝุ่นอยู่ระหว่าง 51-75 มคก./ลบ.ม.) กทม.จะขอความร่วมมือ แต่หากค่าฝุ่นอยู่ในระดับ 4 (ค่าฝุ่นมากกว่า 75 มคก./ลบ.ม.) ติดต่อกันเกิน 3 วัน กทม.สั่งการตามมาตรการได้
...
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า (GISTDA) เมื่อวันที่ 1 ก.พ. พบจุดความร้อนทั่วประเทศประมาณ 1,200 จุด หัวใจสำคัญในการลดจุดความร้อน คือ การบริหารจัดการเชื้อเพลิง บางจังหวัดงดการเผาในบางช่วงเวลา ทำให้บางครั้งเกิดปัญหารุมเผาในบางช่วงเวลาเช่นกัน ดังนั้นการบริหารจัดการเผาจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ละจังหวัดจะมีอำนาจเต็มในการควบคุมการเผา โดยมีแอปพลิเคชัน Burn Check ใน จ.เชียงใหม่ ใช้แล้ว 100% แต่บางจังหวัดยังไม่ 100% ต้องประสานความร่วมมืออย่างเข้มงวดต่อไป โดยภาครัฐตั้งเป้าลดจุดความร้อนให้ได้ 50-60%
“กรมได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล วันที่ 3-4 ก.พ. พื้นที่ กทม. และปริมณฑลควรเฝ้าระวังการสะสมของฝุ่นละออง เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด พื้นที่ที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพฯกลาง กรุงธนเหนือและใต้ (พื้นที่ท้ายลม) พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ควรเฝ้าระวังบริเวณภาคเหนือตอนบนและล่าง โดยเฉพาะช่วงวันที่ 3-4 ก.พ. ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสถิติค่าฝุ่นลดลงในทุกปี แต่ในปี 66 จากการคาดการณ์คาดว่า ค่าฝุ่นอาจรุนแรงกว่าปี 65 เนื่องจากสภาพอากาศจะแล้งมากขึ้น วันที่ 1 มิ.ย. จะมีการปรับเปลี่ยนค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จากเดิมไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. ลดลงเหลือ 37.5 มคก./ลบ.ม. ดังนั้นการบริหารจัดการฝุ่น PM2.5 ต้องเข้มข้นกันมากขึ้น” นายปิ่นสักก์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า IQAir | First in Air Quality ที่เป็นเว็บไซต์จัดอันดับคุณภาพอากาศและจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษของโลก รายงานในเวลา 10.00 น. ว่า กทม.ประเทศไทยมีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) สีแดง 192 มีผลกระทบต่อทุกคน คุณภาพอากาศมีมลพิษเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากเมืองการาจี ประเทศปากีสถาน เมืองลาฮอร์ประเทศปากีสถานและคูเวต
ต่อมานายปิ่นสักก์แถลงถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ปัจจุบันค่า PM2.5 อยู่ในระดับเกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะประเทศไทยตอนกลาง ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ทั้งนี้ ในวันที่ 5 ก.พ. PM 2.5 จะลดลงอยู่ในระดับปานกลาง จากนั้นวันที่ 7 ก.พ.จะลดลงมาอยู่ในระดับค่ามาตรฐาน ทั้งในพื้นที่ กทม. และ 17 จังหวัดภาคเหนือ นายกฯได้กำชับให้ดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด ขอความร่วมมือลดการก่อสร้าง การเผาในที่โล่ง แจ้งประชาชนกลุ่มเสี่ยงตรวจสอบและดูแลตนเอง ติดตามสถานการณ์ PM 2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน Air 4 Thai ส่วนประชาชนในพื้นที่ กทม.ตรวจสอบได้ผ่านแอปพลิเคชัน Air Bkk
ที่ศาลาว่าการ กทม.วันเดียวกัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เผยถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ใน กทม. ว่า มาจาก 2 ส่วน คือ สภาพอากาศปิดและลมต่ำมาก ทำให้ฝุ่นหมุนเวียนในกรุงเทพฯ ไม่ได้ระบายออก ต้นกำเนิดฝุ่นมาจากรถยนต์และการเผาชีวมวลรอบนอก พบจุด Hot Spot ค่อนข้างสูงราว 1,200 จุดในเขตประเทศไทย ประกอบกับทิศทางลมเปลี่ยนจากลมตะวันออกเฉียงเหนือมาเป็นลมตะวันออก ทำให้การเผาไหม้ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาพัดมายังประเทศไทย ทำให้หลายจังหวัดค่าฝุ่นสูง การพยากรณ์เราแม่นยำขึ้นเห็นตั้งแต่ 3 วันก่อนแล้วว่ามีฝุ่นรุนแรง จึงประกาศเตือนล่วงหน้ามาตลอด มีระบบเตือนภัยในโรงเรียนที่เข้มข้นขึ้น มีระบบ Line Alert สำหรับเตือนภัย ระยะสั้นต้องดูแลตนเองก่อน สวมหน้ากากเมื่อออกพื้นที่โล่งแจ้ง เรามีแผนฝุ่นแห่งชาติเป็นวาระแห่งชาติ หากฝุ่นสูงเกิน 75 มคก.ลบ.ม. ต่อเนื่องกัน 3 วัน กทม.พยากรณ์ว่าวันที่ 1-3 ก.พ.จะมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน จึงสั่งให้หน่วยงานในสังกัด WFH ทันที พร้อมสั่งการไปยังสำนักงานเขตขอความร่วมมือบริษัทเอกชนออกมาตรการเวิร์กฟรอมโฮม ส่วนราชการได้แจ้งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เพื่อแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว
...
“สำหรับโรงเรียนในสังกัด กทม.ไม่ปิด ทั้งนี้ ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต มีอำนาจประกาศเป็นเขตเดือดร้อนรำคาญตาม พ.ร.บ.สาธารณสุขฯ จะทำให้ควบคุมการเผาได้ อยากขอร้องไปถึงเรื่องธูป เทียน การเผากระดาษเงิน-ทอง แต่คงบังคับมากไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องความเชื่อ รวมทั้งกิจกรรมก่อสร้างที่ กทม.เป็นเจ้าของโครงการด้วย แนะนำช่วงนี้ว่าควรงดออกกำลังกายกลางแจ้ง ช่วงนี้ตนเองก็หยุด หากออกกำลังกายกลางแจ้งต้องใส่หน้ากาก ส่วนตัวออกกำลังกายในห้อง วิดพื้น-จ๊อกกิ้ง” นายชัชชาติกล่าว
ด้านศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสรุปผลการตรวจวัด PM2.5 วันที่ 2 ก.พ. ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 71-121 มคก./ลบ.ม.(ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน และพบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 70 พื้นที่ ได้แก่ 1.เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 มีค่าเท่ากับ 121 มคก./ลบ.ม. 2.ด้านหน้า รพ.ลาดกระบังข้างป้อมตำรวจ 113 มคก./ลบ.ม. 3.หน้าห้างสรรพสินค้าซีคอน สแควร์ 112 มคก./ลบ.ม. 4.เขตทวีวัฒนา ทางเข้าสนามหลวง 2 มีค่า 112 มคก./ลบ.ม. 5.หน้าสำนักงานเขตหนองจอก 109 มคก./ลบ.ม. 6.ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม 109 มคก./ลบ.ม. 7.หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี 105 มคก./ลบ.ม. 8.ภายในสำนักงานเขตคลองสามวา 105 มคก./ลบ.ม. 9.เขตมีนบุรี สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ตรงข้ามสำนักงานเขตมีนบุรี 103 มคก./ลบ.ม. 10.สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา 103 มคก./ลบ.ม. 11.ป้ายรถเมล์ด้านหน้าสำนักงานเขตสายไหม 102 มคก./ลบ.ม. 12.สวนหนองจอก เขตหนองจอก 102 มคก./ลบ.ม. 13.เขตคันนายาว บริเวณปากทางถนนสวนสยามตัดกับถนนรามอินทรา 101 มคก./ลบ.ม. 14.สวนพระนคร เขตลาดกระบัง มีค่าเท่ากับ 100 มคก./ลบ.ม. 15.เขตบางบอน ใกล้ตลาดสุขสวัสดี 100 มคก./ลบ.ม. เป็นต้น
...