ตอนมีข่าวเปลี่ยนชื่อสถานีกลางบางซื่อ...ผมหุนหันหาหนังสือไม่ได้ดังใจ วันนี้เขาเปลี่ยนชื่อใหม่กันไปเรียบร้อย เพิ่งเจอหนังสือ ย่านเก่าในกรุงเทพฯ เล่ม 2 (ปราณี กล่ำส้ม สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พ.ศ.2549)

เคยอ่านแล้วหลายครั้ง ก็ตั้งใจอ่านอีก เรื่องเล่าของชาวบางซื่อ ที่คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมามีอยู่ว่า

กาลครั้งหนึ่ง ท้าวอู่ทองพาข้าราชบริพารอพยพหนีโรคห่า ผ่านมาทางดอนเมือง ท้าวอู่ทองนำทองคำใส่เรือชะล่าเข็นมาตามคลอง ด้วยสภาพคลองตื้นเขินมาก เมื่อน้ำลง น้ำในคลองจะแห้งขอด เรือที่เคยพายได้ก็ต้องเข็น

เมื่อกาลเวลาผ่านไป คำว่า “ทองเข็น” หรือ “คลองเข็น” ก็เพี้ยนมาเป็นบางเขน

ท้าวอู่ทองให้คนเข็นเรือบรรทุกทองต่อไป จนถึงสถานที่หนึ่ง ก็เอาทองคำซ่อนไว้

ต่อมาภายหลัง จึงเรียกบริเวณนั้นว่า “บางซ่อน” ซึ่งสันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “ทองซ่อน”

ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ใกล้ๆบางซ่อนมีชุมชน คนในชุมชนมีความซื่อ ใครถามเรื่องใดก็จะตอบตามความจริง เมื่อมีคนถาม พระเจ้าอู่ทองนำทองซ่อนไว้ที่ไหน ชาวบ้านนั้นก็จะบอกว่า ทองซ่อนไว้ที่บางซ่อน

คนทั่วไป เห็นว่าชาวบ้านบ้านนี้มีความซื่อ จึงเรียกสถานที่ที่ชาวบ้านกลุ่มนี้อยู่ว่า “บางซื่อ”

และชื่อบางซื่อ ก็ยังคงเรียกกันเป็นชื่อตำบล อำเภอ ในเวลาต่อมา จนถึงบัดนี้

ปราณี กล่ำส้ม ให้ความรู้เพิ่มเติม ตำนานท้าวอู่ทองนี้ มิได้มีเฉพาะแถบบางซื่อเท่านั้น ยังมีเรื่องราวทำนองนี้ปรากฏทั่วไปในพื้นที่ภาคกลาง

สุนทรภู่ กล่าวถึงบางซื่อไว้ ในนิราศพระบาท เมื่อครั้งตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสกรมพระราชวังหลัง ซึ่งทรงผนวชอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม ขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท เมื่อปี พ.ศ.2350

...

ขณะที่ผ่านบางซื่อ สุนทรภู่ พรรณนาไว้ว่า

ถึงบางซื่อชื่อบางนี้สุจริต เหมือนซื่อจิตที่พี่ตรงจำนงสมร มิตรจิตขอให้มิตรใจจร ใจสมรขอให้ซื่อเหมือนชื่อบาง

สุนทรภู่เดินทางด้วยเรือ ตอนที่เรือผ่านบางซื่อ สภาพภูมิประเทศ เมื่อกว่าสองร้อยปีที่แล้วจะเป็นอย่างไร เราคงมโนกันไปตามประสา

แต่ถ้าได้อ่านต่อ เจอเรื่อง “บึงพญาเวิก” ที่ปราณี กล่ำส้ม เขียนไว้ทั้งยังหาภาพถ่ายย่านบางซื่อ เมื่อปี 2489 ถ่ายจากทิศตะวันตกมองไปยังตะวันออก ด้านล่างเห็นโรงงานปูนซีเมนต์บางซื่อ คงต้องมโนไปอีกอย่าง

เลยแถวต้นไม้เรียงรายที่เข้าใจว่าเป็นถนนพหลโยธินไป ทุ่งเวิ้งว้างที่อยู่ถัดไป น่าจะเป็น ทุ่งพญาเวิก

น.ณ ปากน้ำ เล่าไว้ในหนังสือ “ย่ำต๊อกทั่วกรุงเทพฯว่า ที่ลุ่มใหญ่ มากของกรุงเทพฯ ก็คือสถานที่อันอยู่ใจกลางเมืองของกรุงเทพฯในสมัยนี้ เดิมเรียกว่า บึงพญาเวิก เป็นทุ่งใหญ่เหมือนทะเลสาบ”

อาณาเขตทุ่งพญาเวิก คลุมไปถึงสถานีรถไฟบางซื่อ ย่านพหลโยธิน สวนจตุจักร ลาดพร้าว สามแยกเกษตร สมัยนั้นผู้โดยสารรถไฟ เมื่อรถไปจอดสถานีบางซื่อ จะเห็นทางทิศตะวันออกเป็นบึงใหญ่โตกว้างขวาง สุดลูกหูลูกตา

ปี พ.ศ.2485 น้ำท่วมใหญ่ คนเก่าๆเล่าว่า พายเรือลัดตัดตรงจากบ้านแถววัดทองสุทธาราม ไปกินข้าวต้มกับเพื่อนที่บางกระบือ ใกล้นิดเดียว ขากลับเจอคลื่นแรงเหมือนคลื่นแม่น้ำซัดเปียกปอน

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจไม่เชื่อ หย่อมย่านบ้านใจกลางเมืองแถวบางซื่อ จะเคยเป็นบึงเป็นทะเลสาบไปได้ยังไง...แต่ขอยืนยัน นี่เป็นเรื่องเล่าจากชาวบางซื่อ ทุกเรื่องที่เล่ามาเป็นเรื่องจริง

รวมถึงเรื่อง ชื่อบางซื่อฟังดูดีอยู่แล้ว เปลี่ยนไปทำไม? และค่าเปลี่ยนชื่อป้าย สถานีกลางบางซื่อ ที่มีคนไม่เชื่อว่า ปาเข้าไปตั้งสามร้อยล้านบาทได้อย่างไร

ผลการสอบสวนออกมาแล้ว เป็นค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริง

อย่าลืม นี่เป็นคำยืนยันของคนบางซื่อ คนบางซื่อยังซื่อ แม้วันนี้ ชื่อสถานีกลางบางซื่อ จะเปลี่ยนไปไม่ใช่บางซื่อแล้วก็ตาม.

กิเลน ประลองเชิง