รายงานข่าวจากสภา กทม.แจ้งว่า ในการประชุมสภา กทม.ครั้งที่ผ่านมา นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมานนท์ ส.ก.เขตยานนาวา เสนอญัตติด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภา กทม.ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาอำนาจและหน้าที่ของ กทม. ในการตราข้อบัญญัติ กทม.เพื่อลดฝุ่นควันพิษและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมจากขนส่งสาธารณะทุกประเภท ทั้งนี้ ปัญหามลพิษทาง อากาศ พบว่า เกิดจากยานพาหนะถึง 61% การตั้งคณะกรรมการวิสามัญครั้งนี้ เพื่อศึกษาว่าสภา กทม.มีอำนาจหน้าที่ในการตราข้อบัญญัติ กทม.เพื่อควบคุมระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพฯหรือไม่ ทั้งนี้ ในระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา สภา กทม.ไม่เคยยื่นร่างข้อบัญญัติเลย การยื่นญัตติครั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ควบคุมมลพิษในอากาศไม่ให้เกินเกณฑ์ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

นายเอกกวิน โชคประสพรวย ส.ก.เขตราชเทวี กล่าวว่า ปัจจุบันมีการจดทะเบียนรถเมล์เป็นรถ EV ประมาณ 1,000 คัน และมีรถที่จะเข้าสู่การเปลี่ยนเป็นรถเมล์ไฟฟ้าในปี 66 อีกกว่า 3,000 คัน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก ทั้งนี้ การเปลี่ยนเป็นรถเมล์ไฟฟ้าจะสามารถทำรายได้จากคาร์บอน เครดิตได้ถึง 2,160-3,600 ล้านบาทต่อปี กทม.จึงควรมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้กรุงเทพฯมีรถเมล์ไฟฟ้าวิ่ง 100% เพื่อประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ และให้สภา กทม.ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลง

นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM 2.5 ได้พูดกันมานานหลายปี โดยส่งผล ต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จากการตรวจสอบค่าฝุ่นละออง ปัจจุบันกรุงเทพฯอยู่ในลำดับเมืองที่มีอากาศปนเปื้อนสูงอันดับ 11 ของโลก และปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ กรุงเทพฯกว่าครึ่งหนึ่งมาจากการขนส่งทางถนน ซึ่งเป็นรถโดยสารประจำทาง ถึง 10% หากข้อบัญญัตินี้ผ่านการอนุมัติจากสภา กทม. เราจะสามารถเปลี่ยนรถเมล์ให้เป็นรถไฟฟ้าได้ทั้งหมดภายใน 7 ปี และสามารถลด PM 2.5 ได้อย่างน้อย 10%

...

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯจะทำให้เราเห็นมุมมองที่กว้างขึ้น ซึ่งปัญหาอาจรวมถึงรถในระบบขนส่งที่ไม่ใช่สาธารณะด้วย รถสาธารณะอาจมีจำนวนแค่ 10% แต่ยังมีรถประเภทอื่นอีก อาทิ รถบรรทุก จึงขอให้คณะกรรมการวิสามัญชุดนี้ได้พิจารณารถประเภทอื่นให้ครอบคลุม ทั้งนี้ สภา กทม.มีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาอำนาจและหน้าที่ของ กทม. ในการตราข้อบัญญัติ กทม. เพื่อลดฝุ่นควันพิษและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมจากขนส่งสาธารณะทุกประเภท จำนวน 23 ท่าน และกำหนดการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน.