ย้อนไปวันที่ 9 มิถุนายน 2565 “อย.” หรือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แจ้งข่าวลวง...“อย่าเชื่อ! โฆษณาผลิตภัณฑ์อ้างรักษาความดัน และหลอดเลือด”
พบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “FXXXXXXXD” เลข อย. 11-1-06353-5-0016 ทางเว็บไซต์โดยมีข้อความระบุ “...ช่วยลดความดันโลหิต และระดับคอเลสเทอรอลรวม...ช่วยต้านการแข็งตัวของเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น...ช่วยต่อสู้กับอาการความดันโลหิตสูง... ส่งเสริมการฟื้นฟูความดันโลหิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป...”
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าเป็นข้อมูลลวง เนื่องจากเป็นการโฆษณาแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือหลอกลวง ให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควรและไม่ได้รับอนุญาต
จากการตรวจสอบเว็บไซต์ที่ทำการโฆษณาไม่พบข้อมูลผู้โฆษณา พบเพียงวิธีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จะต้องกรอกชื่อ-นามสกุลจริง หมายเลขโทรศัพท์ และกดคำว่า “สั่งซื้อตอนนี้”
รวมทั้งเป็นเว็บไซต์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศซึ่งโฆษณาลักษณะนี้จะไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ ดังนั้นหากผู้บริโภคใช้แล้วเกิดปัญหาใดๆในการบริโภคผลิตภัณฑ์จะไม่สามารถตามหาผู้รับผิดชอบได้ จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาลักษณะนี้ และ อย.ได้สั่งระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
รวมทั้งดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องแล้ว ข้อเสนอแนะขอเตือนผู้บริโภคให้รู้เท่าทันการโฆษณาผลิตภัณฑ์อวดอ้างรักษาโรคหลอดเลือดและรักษาความดันโลหิตทางสื่อออนไลน์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพราะ อย.ไม่อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์อาหารโฆษณาไปในทิศทางที่เกี่ยวกับการรักษาโรคต่างๆ
...
กรณีมีอาการเจ็บป่วยหรือผิดปกติในร่างกายควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง หากพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยสามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 Line : @FDAThai Facebook : FDAThai หรือแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
ไม่รู้ว่า...เราต้องอ่านคำเตือนจาก อย.หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไปอีกกี่หน เพราะดูเหมือนว่าปัญหาจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา หรือเครื่องสำอางที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงนั้นก็ยังวนเวียนอยู่รอบๆตัวเรา สอดแทรกอยู่ในสื่อต่างๆ ทั้งใหม่...เก่า ที่ผูกมัดพันธนาการเราไว้แทบจะตลอดวัน
“ผู้บริโภค”...หากวันใดเกิดจิตใจไม่เข้มแข็งพอขึ้นมาก็คงไม่แคล้วต้องมีอันพลาดท่าเสียที
ทว่าทุกวันนี้ “โฆษณาออนไลน์ตุ๋นคน” ก็ยังมีอยู่เกลื่อนกลาด...ผลิตภัณฑ์อ้างรักษาความดันและหลอดเลือด ช่วยลดความดันโลหิตและระดับคอเลสเทอรอลรวม...ช่วยต้านการแข็งตัวของเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น นำเสนอโน้มน้าว...ประหนึ่งว่ากินแล้วถึงขั้นที่ว่าจะส่งผลอายุยืนยาวนับกว่า 100 ปี... ว่าเข้าไปนั่น
แถมเนื้อหายังมีบทความแนวสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ รีวิวผู้ใช้...เข้ามาเสริมเติมแต่งให้น่าเชื่อถือสุดๆ...เป็นวังวนอยู่ร่ำไป
เช่นนี้ สำทับด้วยข้อดีสรรพคุณมหัศจรรย์ดียิ่งกว่ายาจากคุณหมอสมัยใหม่...กินแล้วความดันสูงจะดีขึ้น...คงที่ ไม่ปวดหัว การเต้นของหัวใจปกติ ดี...ดี๊...ดี ดีจริงๆ?
เร่งเร้า...ด้วยโปรโมชันช่วงสั้นๆด้วยการตั้งเวลานับถอยหลัง 27 นาที (หลอกๆ) เร้าๆ...ราคาเก่า 1,180 บาท ราคาใหม่ 590 บาทเท่านั้น ลดไปเกือบครึ่ง 50% รีบซื้อด่วนๆเดี๋ยวจะเสียโอกาสพลาดครั้งใหญ่
ตั้งสติกันให้ดีๆ...อย่าให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ถ้าดูส่วนผสมผลิตภัณฑ์เทวดาที่ว่า...ก็มีสารสกัดจากชาเขียว ส้มแขก พริกไทยดำ สาหร่ายทะเล อาหารเสริมก็แค่อาหารเสริมไม่ใช่ยารักษาโรคแน่นอน
ที่สำคัญโฆษณาเหล่านี้เป็นเหมือน “ผี” เดี๋ยวโผล่ เดี๋ยวหาย วนเวียนหลอกหลอน...หลอกลวงเหยื่อผู้หลงเชื่อไปเรื่อยๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจับได้ไล่ทัน...ต้องขยันตรวจตรา 24 ชั่วโมง
หรือไม่อย่างนั้นผู้ที่พบเห็นก็แคปหน้าจอเก็บข้อมูลหลักฐานส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดการอย่างเด็ดขาด อย่าให้หลุดรอดดิ้นหนีหายไปไหนได้...ช่วยกันคนละไม้ละมือคงไม่เหลือบ่ากว่าแรง
อีกกรณีกระแสดังจะตุ๋นมากลวงน้อย? ลองพิจารณากันดู “กัมมี่กระชากวัย...สารต้านอนุมูลอิสระ” ชื่อยี่ห้อสไตล์ญี่ปุ่น โฆษณานำทัพอ้างอิงแบบเต็มคาราเบลด้วยดาราสาวหน้าเด็กยุคพระเอกหนุ่มศรราม
ผู้ประสงค์ดี (สติดี) มีความสงสัยส่งข้อมูลมาให้พบว่าในอินสตาแกรมมีโฆษณากันเกร่อมากๆ...“เครียด นอนไม่หลับ ไขมันสูง”... ไขมันพอกตับ ตับอักเสบ ค่าตับสูง คอเลสเทอรอลสูง ไตรกลีเซอไรด์สูง ดูแลและบำรุงตับ ด้วย...สารสกัดเคอร์คูมิน ซึ่งสารกลุ่มนี้ก็มาจากสมุนไพร อาทิ ขมิ้นชัน...เนื้อสีเหลือง
บางโฆษณาถ้าใครเคยเห็นผ่านตาเน้นย้ำชัดเจนเลยว่า ส่งเสริมการทำงานของตับ มุ่งลดภาวะตับอักเสบ แนะนำรับประทานวันละ 2 ครั้ง สามารถทานควบคู่กับยาที่แพทย์สั่ง...ผ่านการทดสอบกับเซลล์มนุษย์เพาะเลี้ยง...และถึงขั้นที่ว่า “สามี...กินแล้วดีเว่อร์ คอเลสเทอรอลลดฮวบ ตับอักเสบหายแล้ว”
...
ถ้อยคำเกินจริงขนาดนี้ ทำได้ด้วยหรือ? ด้วยโฆษณาออนไลน์ที่วนเวียนไม่หยุดหย่อน ก็ยิ่งสงสัย หน่วยงานที่รับผิดชอบหายไปไหนกันหมด ไม่รู้ไม่เห็นเลยหรืออย่างไร ควรต้องมีเจ้าภาพจัดการอย่างจริงจัง
ยังไม่จบๆการโน้มน้าวส่วนหนึ่งยังมีเรื่องใช้ชีวิตปลอดภัยไร้ปอดอักเสบ ป้องกันการติด...ติดแล้วฟื้นฟูร่างกาย เข้ามาเสริมเชิญชวนในช่วงการระบาดไวรัสโควิด-19 สรรพคุณมากมายขนาดนี้ก็มาถึงสนนราคากระหน่ำซ้ำโปรโมชัน...โปรแรง 10 กระปุก จาก 18,900 บาท เหลือเพียง 10,600 บาท...กระปุกละพันหน่อยๆเท่านั้นเอง
ข้างต้นเหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น หากแต่ในโลกออนไลน์ยังมีโฆษณาลักษณะนี้อีกมากมายมหาศาลเหลือเกิน...หน่วยงานรัฐต้องตื่น รัฐบาลต้องขยับแรงๆในระดับนโยบายอย่างจริงจัง
“การตลาดออนไลน์ผ่านสื่อโฆษณาออนไลน์สร้างความเสียหายที่เกิดขึ้นได้มาก เป็นความกลัวที่ใช้เจตนาที่ไม่ดีมาหลอกลวงต้มคน”
ผศ.ดร.ชื่นสุมล บุนนาค ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา สาขาบริหารธุรกิจ (MBA) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร บอกอีกว่า สื่อโฆษณาออนไลน์จะดีไม่ดีขึ้นอยู่กับเจตนาว่าจะใช้ไปในทิศทางไหน เครื่องมือการตลาดออนไลน์ข้อดีสำคัญก็คือช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าและบริการได้มากขึ้น
แต่...อยู่ที่ประเด็นของเนื้อความโฆษณาจะทำให้บิดเบือน ชักจูง เพราะหลักของการโฆษณาก็คือการทำให้คนเชื่อถือ เชื่อ ศรัทธาในตัวผลิตภัณฑ์
นับรวมไปถึงการใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” หรือ “รีวิวเวอร์” ในบริบทต่างๆมาเพื่อโน้มน้าวลูกค้าผู้บริโภค
ฉะนั้นแล้วสิ่งสำคัญจึงอยู่ที่วัตถุประสงค์ของ “ผู้โฆษณา” แต่การใช้ในทางบิดเบือน ตัวอย่างโฆษณาอาหารเสริมก็มีข้อห้ามอยู่แล้วว่าห้ามใช้คำต่างๆที่ผิดจรรยาบรรณ เช่น ดีเลิศ ยอดเยี่ยม มหัศจรรย์ หายขาด ฯลฯ...ที่จริงแล้ว “อาหารเสริม” ไม่ใช่ “ยา” ไม่สามารถรักษาโรคได้ แต่คนก็เชื่อในคำเหล่านี้
...
ผู้บริโภคยุคปัจจุบันจำเป็นต้องมีความรู้เท่าทันสื่อด้วย ดังที่ อย. ได้ย้ำไว้ว่า คำหรูๆเหลือเชื่อหรือคำที่ยากต่อการพิสูจน์ก็ใช้ไม่ได้ เห็นโฆษณาแบบนี้มั่นใจเลยว่า...“โอ้อวดเกินจริง”.