เบรกชั่วคราวการติดตั้งป้ายใหม่ ของสถานีกลางบางซื่อ วงเงิน 33 ล้านบาท หลังเกิดกระแสดราม่าถล่มหนัก คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงประชุมนัดแรก ขอเวลา 15 วันสอบจาก 9 ประเด็นที่ให้ รฟท.แจงเหตุผล เคลียร์ให้ชัดถึงการเปลี่ยนป้ายเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ในงบก้อนโต พร้อมตั้ง 2 ประเด็นหลัก รฟท.ทำตาม ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ และสามารถปรับราคาจัดจ้างถูกกว่าที่เป็นอยู่ได้หรือไม่ ด้านผู้ว่าการ รฟท. ไม่มาประชุม แต่ออกหนังสือถึงบริษัทที่รับจ้างติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯชะลอการติดตั้งเพื่อรอผลสอบสวน

โครงการเปลี่ยนป้ายชื่อ “สถานีกลางบางซื่อ” เป็น “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ที่มีการตั้งงบประมาณการจัดทำป้ายใหม่ในราคาสูงลิบลิ่วถึง 33 ล้านบาท จนกลายเป็นกระแสดราม่าอย่างหนักในโลกโซเชียล ประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าเม็ดเงินค่าจัดทำป้ายใหม่มากเกินความจริงและมองดูว่ามีความไม่โปร่งใส จนในที่สุดโครงการดังกล่าวถูกเบรกให้ชะลอการติดตั้งไว้ก่อนเพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โครงการปรับปรุงป้ายชื่อ “สถานีกลางบางซื่อ” เป็น “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” เปิดเผยภายหลังการประชุมครั้งแรกว่า การประชุมครั้งนี้ รฟท.ส่งรายละเอียดและชี้แจงข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการตั้งประเด็นไป 9 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ความเป็นมาของโครงการ 2.ขอบเขตงาน หรือ TOR 3.รายละเอียดราคากลาง 4.รายงานการ ประชุมคณะกรรมการกำหนดราคากลาง (ทุกครั้ง) 5.การขออนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง บันทึกสั่งจ้างและรายละเอียดการสั่งจ้าง 6.สำเนาข้อเสนอราคาของบริษัทผู้รับจ้าง 7.สำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการจ้างทุกครั้ง 8.สัญญาจ้าง 9.เปรียบเทียบราคาการติดตั้งป้ายกับราคาตลาดโดยทั่วไป ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวผู้ว่าการ รฟท.ไม่ได้มาชี้แจงด้วยตนเอง โดยคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีกำหนดต้องรายงานผลการสอบสวนให้กระทรวงคมนาคมทราบภายใน 15 วัน

...

รองปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวอีกว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจะมีการพิจารณา 2 ประเด็น ประกอบด้วย 1.รฟท.ดำเนินการตามกฎหมายระเบียบ พ.ร.บ.จัดซื้อ จัดจ้าง ปี 62 ของกรมบัญชีกลางหรือไม่ ขณะเดียวกันจะมีการสอบราคาที่มีการจัดจ้าง รวมถึงจะพิจารณาถึงเหตุผลว่าทำไม รฟท. ถึงมีการจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง 2.พิจารณาถึงความเหมาะสมทางด้านราคาว่าจะมีการดำเนินการที่ประหยัดกว่างบประมาณที่จัดจ้างได้หรือไม่

สำหรับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วย รศ.วัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย นายปฏิกร ณ สงขลา จากสภาสถาปนิก ผู้ช่วย ศ.พิศิษฐ์ แสง-ชูโต เลขาธิการสภาวิศวกร นายเสกสรร พหลเวชช์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรฐานระบบพัสดุ กรมบัญชีกลาง รวมถึงตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีนายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการ รฟท. พร้อมด้วยหัวหน้าสำนักงานอาณาบาล ฝ่ายกฎหมายของ รฟท. วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ผู้บริหาร วิศวกร งานโครงการพิเศษและที่ปรึกษาเข้าร่วม มีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่การรถไฟฯที่จะเข้าชี้แจงรวม 8 คน

ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. เผยว่า ได้ลงนามในหนังสือเมื่อวันที่ 9 ม.ค.66 เรื่องระงับงานซื้อย้าย จัดหา ติดตั้งงานก่อสร้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้รับจ้างจัดทำป้ายแล้ว เหตุที่ออกหนังสือเพื่อขอให้ระงับงานรื้อย้าย จัดหา และติดตั้งงานก่อสร้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ออกและติดตั้งตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ เพื่อรอผลสอบสวนข้อเท็จจริงที่กระทรวงคมนาคมตั้งขึ้นมาก่อนและจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ขณะที่ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงการที่ รฟท.ออกหนังสือสั่งระงับการดำเนินการเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ วงเงิน 33 ล้านบาทไว้ก่อนว่า ได้ตั้งคณะกรรมการสอบ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ตั้ง แต่วันที่ 5 ม.ค. หลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม กำหนดระยะเวลาการสอบสวนข้อเท็จจริงภายใน 15 วัน จะครบกำหนดในวันที่ 20 ม.ค. เรื่องนี้จะดำเนินการอย่างไรต่อให้รอฟังข้อสรุปจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้นมาก่อน ตอนนี้ยังไม่อยากพูดอะไรไปก่อนเพราะไม่ได้เข้าไปดู

อีกด้านหนึ่ง ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ เข้าพบ พ.ต.ท.หญิง กรแก้ว ประหยัดทรัพย์ สว. (สอบสวน) กก.5 บก.ปปป. ร้องขอให้ตรวจสอบกรณีการจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงการก่อสร้างเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ วงเงิน 33 ล้านบาท

นายมงคลกิตติ์กล่าวว่า ต้องการให้ตำรวจบก.ปปป.ตรวจสอบเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหาร กรรมการจัดซื้อจัดจ้าง รวมไปถึงผู้รับสัญญาจ้าง ว่าการกระทําดังกล่าว เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 ม.9-13 หรือไม่ เหตุที่มาร้องเพื่อต้องการให้มีการลงโทษเพิ่มเติม เพราะอำนาจสืบสวนมีกรอบระยะเวลา 30 วัน ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ การเปลี่ยนป้ายแบบเฉพาะเจาะจงจะต้องเป็นเรื่องของความมั่นคงตาม พ.ร.บ. แต่การจัดซื้อจัดจ้างฯครั้งนี้ไม่เห็นเหตุอันควรหรือเร่งด่วนอะไร มองว่าอาจมีการเอื้อประโยชน์แอบแฝง หรือเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคารายใดมีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรมหรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมหรือไม่ พร้อมเผยว่าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การอภิปรายแบบทั่วไปในต้นเดือน ก.พ.ที่จะถึง

...