หนอนใยผัก (Plutella xylostella (L.)) ศัตรูพืชสำคัญชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับพืชผัก โดยพืชอาหารเป็นผักตระกูลกะหล่ำ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ราชาแห่งพืชผัก อันประกอบด้วย กะหล่ำปลี กะหล่ำปม ผักกาด บรอกโคลี เคล ผักน้ำ และคะน้า

เป็นศัตรูพืชที่พบการระบาดได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพืชตระกูลกะหล่ำ จะเริ่มพบการระบาดในฤดูหนาว และระบาดมากในปลายฤดูหนาวต่อฤดูแล้ง

ลักษณะการเข้าทำลาย จะมีผีเสื้อตัวเต็มวัยเพศเมียมาวางไข่ เมื่อหนอนฟักออกจากไข่ จะลักษณะเรียวยาว หัวแหลมท้ายแหลม ส่วนท้ายมีปุ่มยื่นออกเป็น 2 แฉก เมื่อถูกตัวจะดิ้นอย่างแรง และสร้างใยพาตัวขึ้นลงระหว่าง พื้นดินกับใบพืชได้

ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่ในวัยแรก จะเจาะกัดกินเนื้อเยื่อใบ และเมื่อตัวหนอนเข้าสู่ระยะวัย 2 จะอยู่ใต้ใบและกัดกินผิวใบทำให้ใบเป็นรูโหว่ ผักเป็นรูพรุนคล้ายร่างแห

“ปกติการกำจัดศัตรูพืชชนิดนี้ มีทั้งสารเคมีและสารชีวภัณฑ์ในการกำจัดอยู่แล้ว ในส่วนของสารเคมีนั้นมักจะมีสารเคมีตกค้างในพืชผักไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และถ้าใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลานาน หนอนใยผักมักจะดื้อยา ส่วนสารชีวภัณฑ์นั้นมักมีปัญหาใช้ไม่ค่อยได้ผล โดยเฉพาะสะเดา เพราะไม่ได้นำเมล็ดสะเดามาสกัด ส่วนใหญ่จะใบ ดอก กิ่ง มาสกัด เลยทำให้สาระ สำคัญไม่มากพอที่จะกำจัดศัตรูพืชได้”

...

นางสาวลักษมี เดชานุรักษ์นุกูล หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากสารธรรมชาติในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อลดการใช้สารเคมี กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร บอกถึงที่มาของโครงการวิจัย ที่นำเอาสารสกัดจากสะเดา และหางไหล หรือโล่ติ๊น มาใช้ในการกำจัดหนอนใยผัก

ด้วย สะเดา มีสารสำคัญคือ อะซาไดแรคติน (azadiractin) ที่จะมีมากในส่วนของเมล็ด มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการกินและการลอกคราบของแมลง การเจริญเติบโตของไข่ หนอน และดักแด้ นอกจากนี้ ยังออกฤทธิ์เป็นสารไล่แมลง...ในขณะที่ หางไหล มี โรติโนน (rotenone) เป็นสารสำคัญ มีฤทธิ์ในการฆ่าแมลง มีพิษต่อแมลงโดยการสัมผัสและกินตาย แต่มีการสลายตัวง่ายและรวดเร็ว เมื่อถูกความร้อนหรือแสงแดด

แล้วนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดพืชรูปแบบใหม่ ด้วยนวัตกรรมการผลิตแบบนาโนอิมัลชัน ในรูปของเหลวให้มีอนุภาคขนาดเล็กมากในระดับนาโน มีความคงตัวสูง ดูดซึมได้เร็ว เป็นการพัฒนาคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพในการแทรกซึมเข้าสู่ตัวแมลงศัตรูพืชเป้าหมาย และกระจายตัวเข้าสู่ในใบพืชได้ดียิ่งขึ้น ลดการสูญเสียของประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์ที่สำคัญจากการสลายตัวด้วยความร้อนและแสงแดด สะดวกต่อการใช้งาน สามารถออกฤทธิ์ในการควบคุมกำจัดหนอนใยผัก

จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สารกำจัดแมลงศัตรูพืช จากสารสกัดพืช ในรูปแบบใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์สูตรผสม สะเดา+หางไหล NeemRo DOA

หัวหน้าโครงการวิจัย เผยถึงผลการทดสอบประสิทธิภาพในแปลงทดลองเกษตรกร พบว่า การนำนีมโร ดีโอเอ มาใช้ในอัตรา 35-50 มิลลิลิตรผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5 วัน ติดต่อกัน 4-7 วัน พบว่า สามารถควบคุมหนอนใยผักได้ดีมากเทียบเท่าการใช้เชื้อ มีประสิทธิภาพกำจัดหนอนใยผักมากกว่า 70%

...

แม้ว่า จะไม่ทำให้หนอนตายในทันทีเหมือนใช้สารเคมี แต่จะทำให้หนอนค่อยๆทยอยตายภายใน 3–5 วัน ส่วนตัวที่ไม่ตายจะไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถลอกคราบ เข้าดักแด้ และทำให้ไม่สามารถขยายต่อไปได้ ช่วยลดจำนวนประชากรหนอนใยผักได้เป็นอย่างดี

แต่การฉีดพ่นจะให้ได้ผลดีควรพ่นในช่วงเย็นหรือเช้า ให้ทั่วใบพืชทั้งบน-ล่างใบ และพ่นเมื่อเริ่มพบการระบาดของหนอนใยผักในระยะแรก พร้อมทั้งเก็บผลิตภัณฑ์สารสกัดพืชไว้ในที่เย็น หลีกเลี่ยงแสงแดดและความร้อน เพื่อป้องกันการสลายตัวของสาระสำคัญ.

ชาติชาย ศิริพัฒน์