วันนี้ 4 ม.ค.66 ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ได้จัดพิธี “ปิดหลังคา” อาคารโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซน C เป็นการแสดงให้เห็นว่าขั้นตอนการก่อสร้างอาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือแค่เพียงงานปิดเปลือกอาคาร งานด้านสถาปัตยกรรมภายใน งานตกแต่งภายใน และงานครุภัณฑ์ลอยตัวเท่านั้น

หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรเช่าพื้นที่ภายในศูนย์ราชการฯ โซน C มี 12 หน่วยงาน ถ้าหน่วยงานไหนยืนยันแบบผังการใช้พื้นที่ และไม่มีการปรับแก้แบบเพิ่มเติม จะสามารถทยอยเข้าใช้พื้นที่ได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2567

แต่ถ้าหน่วยงานไหนจะขอปรับแก้แบบเพิ่มเติม เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมการท่องเที่ยว หากสรุปแบบและส่งแบบแก้ไขได้เร็ว ก็น่าจะเริ่มเข้าใช้พื้นที่ในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2567

อาคารที่ ธพส.ก่อสร้างโดยเฉพาะที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯเป็นสมาร์ทบิวดิ้ง และทุกตึกผ่านเกณฑ์ มาตรฐานอาคารเขียว (Green Building) ในประเทศไทย ระดับทอง ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ (เช่น เป็นอาคารประหยัดพลังงาน) ระหว่างก่อสร้าง (เช่น ไม่มีเรื่องร้องเรียนปัญหาฝุ่น เสียง หรือถนนสกปรกเลอะเทอะ) และการบริหารจัดการหลังสร้างเสร็จ (เช่น การดูแล ซ่อมแซม ปรับปรุง ใช้วิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม)

นอกจากนี้ ธพส.ได้ทำโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยพันธุ์ไม้ต่างๆรอบศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ตามวิสัยทัศน์ของดร.นาฬิกอติภัคที่ต้องการสร้างพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 10% เพื่อให้บรรยากาศโดยรวมมีความร่มรื่น สดชื่น ผ่อนคลาย เอื้อประโยชน์ทั้งต่อการทำงาน การพักผ่อน การออกกำลังกาย และใช้เป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรม

...

พื้นที่สีเขียว 10% ตรงนี้ไม่นับรวมอยู่ในพื้นที่สีเขียวภาคบังคับตามกฎกระทรวง ซึ่งบางจุดเป็นแค่พื้นที่สีเขียวแต่ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นมาภายในศูนย์ราชการฯมีพื้นที่รวมกว่า 40 ไร่ จัดทำเป็นสวนสาธารณะ อำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการ พนักงาน ของหน่วยงานที่เช่าพื้นที่ จำนวนกว่า 4 หมื่นคน รวมทั้งผู้มาติดต่อในศูนย์ราชการฯ ชุมชนโดยรอบและประชาชนทั่วไป ได้ใช้บริการ และสวนนี้ออกแบบอย่างมีสุนทรียภาพตามหลักอารยศาสตร์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เพิ่มพื้นที่สีเขียวดังกล่าวมีทั้งระดับพื้นดินและสวนลอยฟ้า แบ่งเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่สีเขียวบริเวณอาคารจอดรถและซ่อมบำรุง (Depot) มีขนาดพื้นที่ 5.05 ไร่ จัดสวนด้วยไม้ยืนต้นผสมไม้พุ่ม และบนชั้นดาดฟ้าของอาคารจะทำเป็นสวน Urban Farming หรือฟาร์มเกษตรสำหรับคนเมือง ส่วนอาคารจอดรถอาคาร A จะพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบ Welcoming Garden พร้อมลานกิจกรรม เปรียบเสมือนสวนหน้าบ้านต้อนรับผู้ที่จะเข้ามาภายในศูนย์ราชการฯ

2.พื้นที่สีเขียวบริเวณสวนหลังศาลพระพรหม ขนาด 5.75 ไร่ เป็นสวนสาธารณะขนาดย่อม สามารถจัดงานกิจกรรมต่างๆได้ 3.พื้นที่สีเขียวบริเวณเกาะกลางถนน ตั้งแต่ซอยแจ้งวัฒนะ 7 ถึงอาคารรัฐประศาสนภักดี ขนาดพื้นที่เป็นแนวยาวรวม 12.05 ไร่ ต้นไม้ใหญ่เรียงยาวเป็นทิวแถวกว่า 1,200 ต้น โดยเฉพาะสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์ตลอดเส้นทาง คาดว่าจะเป็นแลนด์มาร์กอีกแห่งของกรุงเทพฯ

4.พื้นที่สีเขียวหน้าอาคารรัฐประศาสนภักดี ขนาดพื้นที่ 12.65 ไร่ เชื่อมต่อกับสวนหลังศาลพระพรหม เป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจที่มีทิวทัศน์สวยงาม 5.พื้นที่สีเขียวทางเชื่อมต่อระหว่างอาคาร B กับ อาคาร C ขนาดพื้นที่ 5.10 ไร่ จุดนี้จะเสร็จหลังสุดราวปลายปี 2567

ผมเห็นภาพกราฟิกมาแล้ว สมกับเป็นต้นแบบเมืองสีเขียว ทั้งร่มรื่น สวยงามอร่ามตา จะเป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ได้เต็มภาคภูมิ.

ลมกรด