คนไทยเผชิญความเสี่ยง "โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง" สูงขึ้นถึงปีละ 2 หมื่นราย จากหลายปัจจัยรุมเร้า โดยเฉพาะการสูบบุหรี่และมลพิษทางอากาศ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ รณรงค์ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเร่งตรวจปอดก่อนอาการทรุด แนะทุกโรงพยาบาลกระจายยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว เป็นยาพื้นฐานรักษาฟรีที่ผู้ป่วยต้องเข้าถึง พร้อมเปิดแอปพลิเคชัน SIMPLE COPD เป็นแนวทางรักษาของแพทย์และพยาบาลทั่วประเทศ



เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.65 จากสถานการณ์ผู้ป่วย "โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง" (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) เพิ่มสูงขึ้นทุกปี กลายเป็นภัยสุขภาพที่คุกคามชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่าโรค COPD เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของประชากรทั่วโลก

รศ.นพ.กมล แก้วกิติณรงค์ หัวหน้าสาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติโรคระบบการหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณะอนุกรรมการโรคปอดอินเตอร์สติเชียลและโรคปอดจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังหรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “โรคถุงลมโป่งพอง” นับเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์และความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยมีผู้ป่วยมากถึงประมาณ 7 แสนราย มีผู้เสียชีวิต 20,000 รายในแต่ละปีหรือเฉลี่ยวันละ 50 ราย

สาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งมาจากการสูบบุหรี่ โดยผู้ป่วยร้อยละ 90 มีประวัติการสูบบุหรี่นานกว่า 10 ปี และผลการศึกษาวิจัยพบว่าผู้สูบบุหรี่วันละ 1 ซอง เป็นระยะเวลาเกิน 10 ปี (pack-year) เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยเรื่องมลพิษทางอากาศ เช่น สูดดมฝุ่นละออง ควันพิษ ละอองสารเคมี และโรคทางพันธุกรรม ก็เป็นต้นเหตุการเกิดโรคเช่นเดียวกัน

...



ลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง คือมี ภาวะเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม ไอมีเสมหะและไอเรื้อรัง เมื่ออาการกำเริบหนักกระทบต่อคุณภาพชีวิต ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล สูญเสียความสามารถทำงาน รายได้ และทรัพยากรของประเทศ ดังนั้น การดูแลตัวเองอย่างถูกต้องเหมาะสม และเริ่มการรักษาที่รวดเร็วจะช่วยลดอัตราผู้ป่วยในโรงพยาบาลและลดการเสียชีวิตได้

"สถานการณ์ที่พบในกรณีผู้สูบบุหรี่ 100 คน จะเป็นโรคนี้ประมาณ 20 คน บางคนสูบบุหรี่มานาน 30-40 ปี ไม่เคยรับการตรวจเลยกระทั่งเกิดอาการเหนื่อยง่าย เมื่อมาพบแพทย์ปรากฏว่าปอดเหลือครึ่งเดียวแล้วก็มี ขณะที่ความเสี่ยงอื่นๆ ที่พบ เช่น สัมผัสควันไฟในบริเวณที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือมีการติดเชื้อในวัยเด็กทำให้ปอดพัฒนาไม่ได้เต็มที่ เป็นต้น"

ดังนั้น จึงต้องการรณรงค์ให้ผู้สูบบุหรี่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงรีบมาตรวจวินิจฉัยปอดเพื่อดูการตีบของหลอดลม และควรหยุดสูบเพื่อชะลอความเสื่อมของปอดหรือไม่ให้ปอดถูกทำลายเร็วขึ้น นอกจากนั้นการสูบบุหรี่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคอื่นๆ เช่น มะเร็ง หัวใจขาดเลือด ฯลฯ ตามมา



ปัจจุบันการรักษาโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง แพทย์จะให้ยาที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีผลข้างเคียง ได้แก่ ยาสูดขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว สูด 1 ครั้งคุมอาการได้ตลอดวัน ลดความยุ่งยาก และผู้ป่วยทุกรายทุกสิทธิ์การรักษาไม่ต้องเสียค่ายาอีกด้วย แต่ปัญหาที่พบคือการกระจายยาไม่ทั่วถึง ยังมีเฉพาะโรงพยาบาลระดับจังหวัด ทำให้ประชาชนหลายพื้นที่เข้าไม่ถึง ทั้งที่ยาชนิดนี้เป็นพื้นฐานการรักษาโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังฟรีในผู้ป่วยทุกราย ซึ่งควรมีในทุกโรงพยาบาล

นอกจากยาสูดขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาวแล้ว ยังมียาหลายรายการที่แพทย์ปรับให้ผู้ป่วยตามสภาพอาการมากหรือน้อย รวมถึงการรักษาแบบไม่ใช้ยาเพื่อฟื้นฟูสภาพปอดด้วยการฝึกออกกำลัง ฝึกการหายใจที่ถูกต้อง และรับวัคซีนป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับปอด ทั้งโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันเชื้อปอดอักเสบ

ทั้งนี้ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชน ผู้ป่วยและผู้ดูแล เนื่องใน "วันโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังโลก" (World COPD Day) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา มีการจัดหน่วยตรวจสมรรถภาพปอดสัญจรไปยังโรงพยาบาลที่ไม่สามารถตรวจสมรรถภาพปอดได้ นำทีมโดย นพ.ขจร สุนทราภิวัฒน์ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลวิเชียรบุรี และโรงพยาบาลหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้ผู้ป่วยมากกว่า 214 รายได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

...



ขณะเดียวกัน คณะทำงานกลุ่มโรคหลอดลม สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ ยังพัฒนาแอปพลิเคชัน "SIMPLE COPD" เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ดูแลผู้ป่วยอย่างง่าย สะดวก และถูกต้อง เริ่มตั้งแต่การประเมินโรค การเลือกยารักษา การปรับยา การใช้อุปกรณ์พ่นสูด และคำแนะนำอื่นๆ ที่จำเป็น นอกจากนี้ยังจัดทำวิดีโอสั้นให้ความรู้ประชาชนสังเกตอาการและปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเมื่อต้องอยู่กับโรค เผยแพร่ผ่าน ช่อง YouTube ของสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ