นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และ ผอ.ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) แถลงข่าวการเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ประจำปี 2566 ว่า คพ.ได้จัดทำแผนเฉพาะกิจแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละออง ปี 2566 ตามหลักการ 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม 7 มาตรการ ตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” สำหรับพื้นที่ในเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 มาจากการจราจร และโรงงานอุตสาหกรรม การจราจร ขอความร่วมมือให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีการกำหนดโครงการ อาทิ โครงการรถรัฐลดมลพิษ โครงการคลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5 ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์รวม 11 บริษัท ให้บริการตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์ฟรี และลดค่าน้ำมันเครื่อง ค่าอะไหล่ และค่าแรงเป็นพิเศษ ปั๊มน้ำมันบางจากและ ปตท.มีการจำหน่ายน้ำมันกำมะถันต่ำในช่วงวิกฤติ มีความเข้มงวดและขยายพื้นที่ตรวจวัดควันดำ 20 จุด เพื่อควบคุมตั้งแต่ต้นทาง

นายปิ่นสักก์กล่าวต่อว่า ส่วนโรงงานอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะตรวจกำกับโรงงานที่มีแนวโน้มในการปล่อยมลพิษสูง ร้อยละ 100 ตลอดปี โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงในการปล่อยฝุ่นละอองจากกระบวนการเผาไหม้ เช่น โรงงานหลอมเหล็ก โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ รวม 896 โรงงาน รวมทั้งควบคุมสถานประกอบการ เช่น กิจการผสมซีเมนต์ กิจการหลอมโลหะ อู่พ่นสีรถยนต์ กิจกรรมผลิตธูป เป็นต้น สำหรับพื้นที่ในเมือง ตั้งเป้าลดจำนวนวัน ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานให้ได้ร้อยละ 10 ส่วนพื้นที่เกษตร กรมการส่งเสริมการเกษตรจะร่วมส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยกำหนดเป้าหมายใน 62 จังหวัด เกษตรกร 17,640 คน และตั้งเป้าหมายลดจำนวนจุดความร้อนร้อยละ 10%.

...