อย.ชี้โฆษณาแฝงสเปรย์พ่นจมูกที่อ้างว่าฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เผยยังไม่ได้ทดสอบในมนุษย์ ทำประชาชนเข้าใจผิด กำลังรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีตามกฎหมาย แนะประชาชนป้องกันโควิดโดยยึดมาตรการสาธารณสุข สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ป้องกันโรค ด้านคณะเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ร่วมแถลงข่าวด้วยโต้แค่ให้บริการทางวิชาการ ไม่เกี่ยวกับการขอขึ้นทะเบียน

ตามที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และภาคเอกชน บริษัท ควอนตัม ไบโอเทค จำกัด กับบริษัท เฮลท์ลีด จำกัด (มหาชน) ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวสเปรย์พ่นจมูก เบซูโตะ เคลียร์ส (Besuto Qlears) ที่พัฒนาจากสารสกัดของเปลือกมะนาว โดยระบุว่า ช่วยยับยั้งและป้องกันเชื้อไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจ เช่น เชื้อไวรัสโควิด-19 เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสอาร์เอสวี โดยวางจำหน่ายในราคาขวดละ 295 บาทนั้น

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์เบซูโตะ เคลียร์ส นาเซิล สเปรย์ ได้รับการจดแจ้งเครื่องมือแพทย์ เลขที่ 65-1-3-2-0000818 มีวัตถุประสงค์การใช้งานและข้อบ่งใช้ คือ สำหรับพ่นจมูก ใช้เมื่อเริ่มมีอาการเป็นหวัดหรือมีอาการคล้ายหวัด เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุโพรงจมูก เนื่องจากอากาศแห้ง ช่วยลดและบรรเทาอาการคัดจมูก แต่ภายหลังปรากฏตามสื่อต่างๆ ว่ามีการแถลงผลการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดจากธรรมชาติ ที่อยู่ในสูตรส่วนประกอบ ควบคู่กับการแอบแฝงโฆษณาผลิตภัณฑ์ ทำให้เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์สามารถยับยั้งหรือฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโควิด-19 และไวรัสอาร์เอสวี ต้านการอักเสบ ฯลฯ ได้ เป็นการสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนกับผู้บริโภค เนื่องจากผลการทดสอบฤทธิ์ดังกล่าวเป็นเพียงผลทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดในห้องปฏิบัติการเบื้องต้นเท่านั้น ยังต้องศึกษาวิจัยในมนุษย์เพิ่มเพื่อยืนยันฤทธิ์ แล้วจึงนำผลการศึกษามายื่นขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในสรรพคุณใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย

...

รองเลขาธิการ อย.กล่าวต่อว่า ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมกันลดปัญหาการโฆษณาแฝงผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ทางการค้า ผ่านการแถลงผลงานวิจัยหรือผลการทดสอบต่างๆ เพราะนอกจากจะสร้างความเข้าใจผิดให้ผู้บริโภคแล้ว ยังเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมาย ขณะนี้ อย.ได้รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว สำหรับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการอนุมัติสรรพคุณจาก อย. ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นและการโฆษณาต้องผ่านการอนุมัติจาก อย. ขอให้ประชาชนยังคงปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เช่น สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในสถานที่ที่ผู้คนแออัดหรือพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท การล้างมือ การเว้นระยะห่าง

ด้าน รศ.นพ.วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะ ได้รับการร้องขอให้ทดสอบประสิทธิภาพในห้องปฏิบัติการของสเปรย์พ่นจมูกดังกล่าวตามวิธีมาตรฐานในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ยังไม่ได้มีการทดลองหรือทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์นี้ในมนุษย์ ต้องมีขั้นตอนทางวิชาการต่อไป บทบาทดังกล่าวของคณะ เป็นเรื่องการให้บริการทางวิชาการตามปกติ คณะ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิต การขออนุญาตขึ้นทะเบียน การจัดจำหน่าย หรือกิจกรรมอื่นของผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด