ก.เกษตรฯ หนุนงานสหกรณ์เสริมทัพความเข้มแข็ง มุ่งสู่เป้าหมายให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ภายใต้แนวทาง "การตลาดนำการผลิต"
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 65 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังได้รับมอบหมายจาก รมว.เกษตรฯ ให้เป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุม "การขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรสู่ความเข้มแข็ง" พร้อมมอบนโยบายการปฏิบัติราชการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้แก่ข้าราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรฯ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ ณ ห้องประชุมสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ กรุงเทพฯ ว่า การมอบนโยบายการปฏิบัติราชการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แก่ 2 กรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้านการเกษตรและขับเคลื่อนงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการเกษตร มีเป้าหมายในการพัฒนาให้ "เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น"
...
โดยมุ่งเน้นให้ "เกษตรกรรวมกลุ่มกันช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปแบบของการสหกรณ์" สร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรของชุมชนโดยส่งเสริมให้นำแนวทาง "การตลาดนำการผลิต การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และการนำเทคโนโลยีการเกษตรมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต" เพื่อลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างระบบการเงินการบัญชีที่มีเกณฑ์การตรวจสอบบัญชีตามมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรนำไปใช้ปฏิบัติ มีการกำหนดเกณฑ์การควบคุมภายในที่ดี การควบคุมและดูแลการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
โดยได้มอบนโยบายการดำเนินงานแก่ทั้ง 2 กรม แบ่งเป็น นโยบายด้านการส่งเสริม พัฒนาและการกำกับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ประกอบด้วย 1. ผลักดันให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมากขึ้น 2. เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 3. การบริหารองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาล และ 4. การแก้ไขข้อบกพร่องของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร นโยบายด้านการตรวจสอบทางการเงินและการบัญชี ประกอบด้วย 1. พัฒนาระบบการตรวจสอบบัญชี 2. ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลและตรวจสอบคุณภาพการสอบบัญชีสหกรณ์ 3.พัฒนาความสามารถด้านการเงินการบัญชี และการควบคุมภายในแก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และเกษตรกร และ 4. มุ่งพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีด้านการบัญชีเพื่อให้บริการแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
"การทำงานในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ขอให้บุคลากรของกรมประสานความร่วมมือและช่วยกันทำงานเพื่อยกระดับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีมาตรฐานสูงขึ้น และสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร และขอให้เน้นย้ำเรื่องการดำเนินการของสหกรณ์ให้มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตามแนวทางของสหกรณ์ที่มีสมาชิกเป็นศูนย์กลาง ซึ่งท่านทั้งหลายเปรียบเสมือนทัพหน้า ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับสหกรณ์ เกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ จึงเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนอยู่ดี กินดีมีสุข อย่างมั่นคงยั่งยืน"นายอลงกรณ์ กล่าว
ปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ จำนวน 7,690 สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 4,110 แห่ง จำนวนสมาชิกรวมทั้งสิ้นกว่า 12 ล้านคน โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์สรุปผลการจัดระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ออกเป็น 4 ระดับชั้น ประกอบด้วย สหกรณ์มีความเข้มแข็งอยู่ในระดับชั้น 1 จำนวน 1,959 สหกรณ์ ระดับชั้น 2 จำนวน 4,027 สหกรณ์ ระดับชั้น 3 จำนวน 454 สหกรณ์ และระดับชั้น 4 ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่อยู่ระหว่างชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ จำนวน 1,234 สหกรณ์.
...