นายกฯมาร์คแจงแผนเมกะโปรเจค พัฒนารถไฟสร้างไทยเข็มแข็ง เชื่อมถึงเพื่อนบ้าน รางคู่หลายเส้นทาง เล็ง 3 เส้นทางทำรถไฟความเร็วสูง ...
วานนี้ (9ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพัฒนาการรถไฟแห่งประเทศไทย สรุปสาระสำคัญว่า การลงทุนพัฒนาเรื่องรถไฟค่อนข้างแพง และเป็นปัญหามาตลอด ซึ่งรถไฟของไทยนั้น ตัวรางทรุดโทรมมาก บางแห่งไม่ได้ปรับปรุงมาหลายสิบปี ทำให้รับน้ำหนักได้น้อย ความเร็วยังต่ำ ในแผนโครงการไทยเข้มแข็ง มีทั้งเรื่องราง การปรับปรุงเรื่องความสะดวกสบายของตัวรถ และสถานีให้สะอาด สวยงาม บางแห่งควรเป็นแหล่งท่องเที่ยว บางแห่งเช่นภาคใต้ต้องเน้นเรื่องความปลอดภัย และนอกเหนือจากรถไฟ ในส่วนของการขนส่งทางบกต้องพัฒนาและปรับปรุงในลักษณะเดียวกัน โดยมีกรอบแผนงาน 3 ปี โดยการปรับปรุงรางเดิมจะใช้งบประมาณเบื้องต้น 4 หมื่นล้านบาท
นายกฯ กล่าวต่อว่าสำหรับตัวราง จะปรับปรุงของเก่าที่ทรุดโทรม และเพิ่มเติมให้รับน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น ความเร็วให้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้เป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนเส้นทางหลักจะต้องทำรางคู่ อาทิ ฉะเชิงเทรา-แหลมฉะบัง และทำขึ้นไปที่แก่งคอย ทำให้รถไฟที่มาจากทางเหนือ อีสาน สามารถลงไปถึงแหลมฉบังได้รวดเร็วขึ้น และปรับปรุงเส้นทาง เพิ่มความเร็ว ระยะที่ 5 -6 ซึ่งส่วนใหญ่ไปทางอีสาน ขณะเดียวกันตนเคยบอกว่าการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ขณะนี้กำลังดูเรื่องความร่วมมือกับต่างประเทศ ทางเหนือจะขึ้นไปทางเชียงของต่อไปถึงจีน อีสานจะทำที่หนองคาย ข้ามแม่น้ำโขงแล้ว และจะไปต่อเพิ่มเติมที่ลาว ส่วนเส้นทางมุกดาหารจะไปเชื่อมโยงกับทางตะวันออก ตะวันตก และที่อุบลราชธานี ออกไปทางที่จะเชื่อมกับกัมพูชา และทางภาคใต้ต้องมองการเชื่อมลงไปทางสุไหงโก-ลก และปาดังเบซาร์ ซึ่งส่วนที่จะเชื่อมต่อกับเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศกำลังไปเจรจากัน อย่างที่จีน ก็ให้ความสนใจอยากจะเข้ามาร่วมดำเนินการ ก็ต้องตกลงกันก่อนว่าจะทำเส้นทางใด รูปแบบใด โดยนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม จะเดินทางไปจีนอีกรอบ
นายกฯ กล่าวเพิ่มว่า ในเชิงอุดมคติ ทุกคนอยากเห็นรถไฟรวดเร็ว ทันสมัย แต่ก็ต้องใช้งบประมาณมากพอสมควร จุดปัญหาคือ ต้องหาความพอดี ซึ่งตรงนี้คิดว่าไม่ได้ใช้เงินมากขนาดนั้น ส่วนเส้นทางที่จะพัฒนาเพิ่มความเร็วและปรับปรุงคุณภาพของราง บวกกับการทำรางคู่ เป็นแนวทางที่ทำให้ดีขึ้น ทำให้เกิดความสมบูรณ์ในแง่เครือข่ายระบบรางในประเทศมีมากขึ้น โดยหวังจะเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเดินทาง และเพิ่มเรื่องการขนส่ง และผลพลอยได้คือ เรื่องพลังงาน มลพิษ อุบัติเหตุบนถนนลดลง ส่วนรถไฟความเร็วสูง ก็อยากจะให้มี และมีเส้นทางที่ดูอยู่ทั้ง กทม.-ปากช่อง พัทยา-แหลมฉบัง กทม.-หัวหิน
เมื่อถามถึงภาวะการขาดทุนสะสมของ รฟท. นายอภิสิทธิ์ตอบว่า อยากให้มองการขาดทุนเป็น 3 ส่วน คือ 1.ประสิทธิภาพ ปัญหาการบริหารจัดการ ซึ่งตรงนี้ต้องทำอย่างนุ่มนวล เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องสวัสดิการหรือประโยชน์ของพนักงานซึ่งต้องแก้ปัญหา อย่างเหมาะสม 2.การบริการรถไฟฟรี ซึ่งจะมาคาดคั้นให้ได้กำไรคงไม่ได้ และ 3.การเปรียบเทียบ เช่น เรื่องถนน รัฐบาลจะออกงบประมาณให้หมด แต่รถไฟ ก็เหมือนต้องสร้างถนน ดูแลถนน ปรับปรุงถนนไปด้วย ดังนั้นจะบอกว่ากำไรทั้งหมดจึงเป็นเรื่องยาก สำหรับปัญหาที่เคยมีการชุมนุมประท้วงการสหภาพ รฟท.
นายกฯ กล่าวด้วยว่า ต้องเชิญสหภาพฯ มาคุยกัน แนวคิดเบื้องต้น คือ แยก 3 งานออกจากกัน คือ ระบบราง การวิ่งรถ และงานพัฒนาทรัพย์สิน จึงอยากให้แยกบริษัทออกมา แต่ยืนยันว่าไม่มีแผนว่าจะนำไปขาย เพียงแต่จะแยกระบบการจัดการออก และล่าสุดที่คุยกัน คือ ถ้ายังเดินไปถึงการตั้งบริษัทไม่ได้ ก็เหมือนแยกเป็นหน่วยธุรกิจหรือไม่ อย่างไรก็ตาม อยากฝากไปยังพนักงานทุกคน และสหภาพฯ ว่า รัฐบาลจะทำอะไร โดยเฉพาะตน ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรม เอาใจใส่กับความห่วงใยของทุกฝ่าย ดังนั้นการเจรจาพูดคุยอย่างไรก็ตาม อย่าให้กระทบกับการบริการ นอกจากนี้ตนอยากเห็นรถไฟวิ่งจากสถานีสุวรรณภูมิมาถึงมักกะสัน ถ้าตกลงกันได้เรียบร้อย จะเปิดให้บริการได้ในปีนี้แน่นอน เพื่อประโยชน์และหน้าตาของคนไทย
...